สสว. จับมือ 6 หน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าโครงการพัฒนา SME ระดับเติบโต (SME Strong / Regular Level) มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนา SME สู่ตลาดโลก
สสว. จับมือ 6 หน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าโครงการพัฒนา SME ระดับเติบโต (SME Strong / Regular Level) มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนา SME สู่ตลาดโลก
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong / Regular Level) ว่า สสว. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันอาหาร และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนา SMEs กลุ่มที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ จำนวน 20,000 กิจการทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy และการพัฒนาสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ หรือ New Economy ตามนโยบายของรัฐบาล

กลุ่ม Strong คือ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง 2,473 กิจการ สสว. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยพัฒนาเรื่องการสร้างแบรนด์ จำนวน 1,581 กิจการ ด้านนวัตกรรม 321 กิจการ ด้านการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ 271 กิจการ และช่องทางการตลาดใหม่โดยการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ 300 กิจการ สำหรับ SME อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีศักยภาพจะเติบได้ (Regular) มีจำนวนประมาณ 8,000 กิจการ สสว. ได้ช่วยเรื่องการขยายช่องทางการจำหน่ายด้วย E-Commerce โดยช่วยการถ่ายภาพและจัดทำเนื้อหาของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งสินค้าและบริการ"
"ในปี 2560 สสว. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันอาหาร และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการอีกจำนวน 10,000 กิจการ
สำหรับแผนงานปี 2560 จะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันตามลักษณะการดำเนินธุรกิจของ SME เช่น SME ในภาคการผลิต จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการลดต้นทุน ส่วนภาคการค้าและบริการ เน้นกลุ่มท่องเที่ยว สปา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ SME ไทยมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จะเข้าไปช่วยในเรื่องการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการบริการให้เป็นสากล และเชื่อมโยงสู่การลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้จะขอความร่วมมือเพื่อบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนั้น สสว. ตั้งเป้าหมายจะพัฒนากิจการค้าส่ง – ค้าปลีก และการขนส่งในภูมิภาค ในเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ และการขยายเครือข่าย เพราะธุรกิจเหล่านี้ เป็นตัวเชื่อมโยงรับสินค้าจาก SME รายย่อย และวิสาหกิจชุมชน เพื่อกระจายสู่ผู้บริโภคในตัวเมือง อีกทั้งยังเป็นธุรกิจหลักที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการพัฒนาSME ให้เข้าสู่ระบบ E-Commerce อีกด้วย" นางสาลินี ผอ.สสว. กล่าว