ลูกจ้างยื่นหนุนค่าแรง 300 ก่อนนายจ้างยื่นค้าน

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. เวลา 10.00น. ตัวแทนเครือข่ายองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) ร่วมกับเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้ายื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อแสดงเจตจำนงค์สนับสนุนนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.2556 ที่จะถึงนี้

 


เมื่อวันที่ 5 พ.ย. เวลา 10.00น. ตัวแทนเครือข่ายองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) ร่วมกับเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้ายื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อแสดงเจตจำนงค์สนับสนุนนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.2556 ที่จะถึงนี้

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะแม้จะมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายนายจ้างและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้เลื่อนออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แต่รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีเตรียมไว้อยู่แล้ว โดยเฉพาะการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมากว่า 829 โครงการ มูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท

"การปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนการปรับขึ้นรอบวันที่ 1 ม.ค. 2556 นี้ ถึงมีผลกระทบต่อลูกจ้างบ้างแต่ก็คงไม่มาก แต่ถ้าไม่ปรับเลยจะเป็นผลเสียมากกว่า เพราะขณะนี้ประเทศพม่ามีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ถ้าไม่ปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้ค่าแรงไม่จูงใจ แรงงานชาวพม่าจะกลับไปทำงานในประเทศตัวเองและส่งผลให้ไทยขาดแคลนแรงงาน"นายมนัส กล่าว

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายชัดเจนในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในช่วงนี้ทางกลุ่มนายจ้าง และส.อ.ท. เดินเกมรุกหนักมากให้มีการเลื่อนการขึ้นค่าจ้างออกไป และฝ่ายแรงงานเกรงว่าอาจเกิดการพลิกผันนโยบายขึ้นได้ ดังนั้นจึงมายื่นหนังสือต่อ รมว.แรงงาน แสดงจุดยืนสนับสนุนให้เดินหน้าขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศต่อไป

ด้านนายเผดิมชัย กล่าวว่า คงไม่มีการทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว วันที่ 1 ม.ค.ถอยหลังไม่ได้ แน่นอนว่าการขึ้นค่าแรงจะมีผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย แต่ลูกจ้างจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนฝั่งนายจ้างก็รับรู้มากว่า1ปีแล้วว่าจะมีการขึ้นค่าจ้าง มีการประชุมหารือร่วมกันหลายครั้ง หลังจากนี้จะพูดคุยแต่เรื่องที่ว่ารัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือสนับสนุนเป็นรายธุรกิจหรือรายกรณีอย่างไรได้บ้าง หากมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาก่อนหน้านี้ไม่ครอบคลุม

ทั้งนี้ ตามกำหนดการวันนี้ เวลา 11.00 น. กลุ่มตัวแทน ส.อ.ท.จะเข้าพบนายเผดิมชัย เพื่ออธิบายถึงผลกระทบการขึ้นค่าจ้างขั้นค่ำที่มีต่อธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้นฝ่ายลูกจ้างจึงมารอพบเพื่อยื่นหนังสือก่อน

NEWS & TRENDS