​พาณิชย์จับมือท่องเที่ยวผุดโครงการ Buy With Confidence สร้างความเชื่อมั่นซื้ออัญมณีและเครื่องประดับไทย

กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับพันธมิตร นำร่องดึงร้านค้าและบริษัทชั้นนำ ร่วมโครงการ “ซื้อด้วยความมั่นใจ” (Buy With Confidence) มอบตราสัญลักษณ์การันตี หวังสร้างมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มความเชื่อมั่นลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ

 



                  กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับพันธมิตร นำร่องดึงร้านค้าและบริษัทชั้นนำ ร่วมโครงการ “ซื้อด้วยความมั่นใจ” (Buy With Confidence) มอบตราสัญลักษณ์การันตี หวังสร้างมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มความเชื่อมั่นลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ 


                  นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ ๓ รองจาก รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ตามลำดับ สร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง ๔.๓๕ แสนล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายในประเทศเป็นเงิน ๕.๓๓ แสนล้านบาท ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมูลค่าเกือบหนึ่งล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๖.๓ ของ GDP โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มผู้ซื้อสำคัญ ซึ่งในปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ ๓๕.๓๘ ล้านคน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยมากที่สุด คือ นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมีจำนวนราว ๑๐ ล้านคน ถือเป็นผู้บริโภคหลักสำคัญสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบัน ซึ่งสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้เป็นจำนวน ๓๕,๐๐๐ ล้านบาท


                  “กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ได้จัดทำโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านใบรับรองคุณภาพจาก GIT โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กรมการท่องเที่ยว และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยคาดว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับที่ผ่านการรับรองคุณภาพไปยังนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติ รวมทั้งคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้จากการซื้อสินค้าประเภท Cash and Carry รวมถึงเพิ่มยอดขายในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกราว ๑ หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเงินประมาณ ๔๕,๐๐๐ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ ๓๐” นายสนธิรัตน์ กล่าว


                  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ย้ำ “สำหรับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับของ GIT ถือว่าเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของรัฐฯ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับโลก ซึ่งสถาบันมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบผ่านเครื่องมืออันทันสมัย จึงเชื่อมั่นได้ว่าสินค้าทุกชิ้นที่ได้รับใบรับรองจาก GIT เป็นสินค้าที่เชื่อถือได้ และ มีคุณภาพตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสถาบัน ได้คัดเลือกร้านค้าและบริษัทที่ประกอบกิจการอัญมณีเครื่องประดับ และร้านค้าทอง ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ ซึ่งสมาชิกจะได้รับใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจากสถาบัน และ ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ จาก GIT อีกมากมาย ทั้งนี้เบื้องต้นมีร้านค้าและบริษัทแสดงเจตน์จำนงค์เข้าร่วมโครงการนี้เกือบ ๑๔๐ ราย และมีผู้ผ่านหลักเกณฑ์เบื้องต้นและเข้ารับประกาศนียบัตรในวันนี้ จำนวน ๖๘ ราย และสถาบันตั้งเป้าหมายให้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย ๕๐๐ ราย ภายในสิ้นปีนี้ โดยมุ่งเน้นที่กรุงเทพ จันทบุรี และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ


                  นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ กล่าวเสริมว่า “สำหรับผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าและเครื่องประดับมาตรฐาน สามารถซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้นด้วยการมองหาสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ BWC ที่ติดอยู่หน้าร้านค้า ซึ่งจะมี QR Code ให้สแกน เพื่อดูรายละเอียดของร้านค้าที่ร่วมโครงการกับ GIT หลังจากนั้นให้เลือกซื้อสินค้าที่มีป้าย BWC ติดอยู่ ซึ่งจะมี QR Code ให้สแกน เพื่อดูรายละเอียดในใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT และจากนั้นสามารถเรียกดูใบรับรองฉบับจริงจากร้านค้าได้อีกด้วย เหมือนดังชื่อโครงการที่ว่า “ซื้อด้วยความมั่นใจ เรียกดูใบรับรอง GIT เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าที่จำหน่าย และ สามารถซื้อได้อย่างมั่นใจ”


                  ในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน ๑๑๖๖ ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ๑๑๕๕ ตำรวจท่องเที่ยว และ ๑๕๖๙ กรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของสถาบัน


                  “เรามีหลักเกณฑ์เคร่งครัดในการคัดเลือกผู้ประกอบการ เข้าร่วมโครงการ ทำให้มั่นใจว่า สินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ BWC จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลตรงตามใบรับรองของ GIT และหากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น หน่วยงานพันธมิตรของ GIT ก็พร้อมที่จะดำเนินการช่วยเหลือผู้ซื้ออย่างทันท่วงที” นางดวงกมล กล่าว


                  สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ “ซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC) ได้ที่ http://bwc.git.or.th



 

NEWS & TRENDS