ส.อ.ท.ชี้ขึ้นค่าแรงป่วนธุรกิจเสียหายยับ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่านโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80% ภายใน 1-2 ปีสร้างความปั่นป่วน และเสียหายแก่อุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมาก

 


นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่านโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80% ภายใน 1-2 ปีสร้างความปั่นป่วน และเสียหายแก่อุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมาก

“ค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากสุดคงเป็นคนต่างด้าว ทั้งที่บางรายก็ยังนับเลข 1-100 ไม่ได้เลย” นายธนิต กล่าว

ในส่วนแรงงานที่เป็นคนไทยนั้นในวงการจ้างงานของอุตสาหกรรมไทยถือว่าแรงงานไทยมีศักดิ์ศรีกว่าต่างด้าวทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งอยู่ระหว่างพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแก่แรงงานที่เป็นคนไทยอีก 50-80 บาทต่อวันหรือเป็น 350-380 บาทต่อวันมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2556 เพื่อให้เกิดช่วงห่างของรายได้ของแรงงานที่เป็นคนไทยกับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่ต้องการแรงงานที่เป็นคนไทยมากกว่าต่างด้าว จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างเพื่อรักษาแรงงานไทยให้ทำงานต่อไปไม่เช่นนั้นจะถูกผู้ประกอบการรายใหญ่แย่งพนักงานโดยจูงใจให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า

ขณะเดียวกันก็เตรียมปรับค่าจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์ตั้งแต่ระดับหัวหน้างานจนถึงผู้จัดการอีก 15-20% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นให้รายละ 2,400-2,500 บาทต่อเดือน เพื่อขยับค่าจ้างให้ห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เพราะหากไม่ปรับก็จะทำค่าจ้างพนักงานใหม่กับผู้ที่มีประสบการณ์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งผลการปรับโครงสร้างค่าจ้างเชื่อว่าในปีหน้าสินค้าบางประเภทจะทยอยปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน

อย่างไรก็ดีปกติค่าจ้างแรงงานที่เป็นคนไทยกับคนต่างด้าวต้องห่างกันวันละ 50-100 บาท เพราะว่านายจ้างจะสื่อสารกับแรงงานไทยได้ง่าย และที่สำคัญมีความไว้วางใจได้มากกว่า ขณะที่แรงงานต่างด้าวบางคนต้องเสียเวลาในการฝึกอบรมนานมากตั้งแต่การสื่อสาร การนับเลข  แต่สาเหตุที่ต้องจ้างเพราะหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานจริงๆ

นายธนิต กล่าวว่า สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่เพิ่มอย่างมากทำให้ ส.อ.ท.ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่พอมีศักยภาพที่ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาตลาดใหม่ ๆ และต้นทุนจากค่าแรง วัตถุดิบในราคาที่ต่ำกว่าประเทศไทย เพราะการขยายกิจการไปยังเพื่อนบ้านนอกจากช่วยลดต้นทุนสินค้าแล้วยังได้เปรียบการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีด้วย

มีรายงานข่าวจาก ส.อ.ท. แจ้งด้วยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง, อิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์บางและพลาสติก, ก่อสร้าง เป็นต้น หากแบ่งเป็นภูมิภาคพบว่าภาคกลางอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมาก, ภาคเหนือ เป็นกลุ่มสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย และเครื่องหนัง, ภาคอีสาน เป็นกลุ่มสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง, ภาคใต้ เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก รวมถึงอาหาร และโรงแรม เป็นต้น

สำหรับแรงงานระดับหัวหน้างาน ช่างฝีมือ และกลุ่มทำงานมานาน ซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 500,000 -1 ล้านคน ที่ต้องปรับเพิ่มเฉลี่ย 15-20% บางรายอาจเป็น 30% นั้น หากไม่มีฐานเงินเดือนให้กับหัวหน้างานหรือระดับช่างฝีมือ ก็จะทำให้แรงงานระดับล่างบางโรงงานมีค่าจ้างที่ใกล้เคียงหรือเท่ากัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในโรงงานได้ หากเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้แรงงานฝีมืออาจย้ายไปอยู่โรงงานที่ให้ค่าจ้างสูงๆ มากยิ่งขึ้น

ที่มา : แนวหน้า

 

NEWS & TRENDS