เปิด 3 เมกะเทรนด์หนุนอุตฯ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์! เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผนึก 2 สมาคม เตรียมจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019”

สมาคมการพิมพ์ไทย – สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ชี้มูลค่าอุตฯ “การพิมพ์ และ บรรจุภัณฑ์” ปี 61 ทะลุ 3 แสนล้านบาท เผย 3 กลุ่มธุรกิจ “อาหารและเครื่องดื่ม – เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง – อีคอมเมิร์ซ” หนุนการเติบโต สอดรับนโยบายชาติ ปี 62




     สมาคมการพิมพ์ไทย – สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ชี้มูลค่าอุตฯ “การพิมพ์ และ บรรจุภัณฑ์” ปี 61 ทะลุ 3 แสนล้านบาท เผย 3 กลุ่มธุรกิจ “อาหารและเครื่องดื่ม – เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง – อีคอมเมิร์ซ” หนุนการเติบโต สอดรับนโยบายชาติ ปี 62                

     
     เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผนึก สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ชี้ 3 ปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมการพิมพ์ และการบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก ได้แก่ 1. การขยายตัวดิจิทัลแพคเกจจิ้งหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมการพิมพ์ 2. แนวโน้มทิศทางการลงทุนเทคโนโลยีการพิมพ์ 3. โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมจากเทคโนโลยี


     โดยในปี 2561 มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์รวมกว่า 3 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์ราวร้อยละ 40 และการบรรจุภัณฑ์ร้อยละ 60 และขณะที่ในปี 2562 คาดการณ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2 และอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 10 - 20 โดยได้รับอานิสงค์จากกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง และนโยบายกระตุ้นอุตสาหกรรมจากภาครัฐ พร้อมเตรียมจัด “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล” งานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จากกว่า 300 บริษัท 25 ประเทศชั้นนำทั่วโลก ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


     เบียทริซ เจ โฮ ผู้อำนวยการโครงการ “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย (เอ็มดีเอ) กล่าวว่า การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ได้รับการประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และยังคงเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าทางอุตสาหกรรมได้อย่างมหาศาล ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยี ดังกล่าว ทั่วโลก 3 ปัจจัยระดับมหภาคที่สำคัญ ซึ่งช่วยสนับสนุนสถานการณ์อุตสาหกรรม ดังกล่าว ได้แก่


     1. การขยายตัวของดิจิทัลแพคเกจจิ้งหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมการพิมพ์ รายงานอนาคตของเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสำหรับบรรจุภัณฑ์ถึงปี 2565 ของบริษัท สมิธเธอร์ส ไพร่า (Smithers Pira) บริษัทชั้นนำของโลกด้านการพิมพ์พบว่าตลาดบรรจุภัณฑ์ดิจิตอล ทั้งด้วยการพิมพ์อิงค์เจ็ทและโทนเนอร์ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มวัสดุที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่กระดาษลูกฟูก กล่องกระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว บรรจุภัณฑ์ชนิด Direct-to-Shape และการพิมพ์โลหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการพิมพ์ดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างกระแสรายได้ใหม่ๆ จากการใช้เทคโนโลยีตอบสนองความต้องการด้านอารมณ์ของผู้บริโภค


     2. มีแนวโน้มทิศทางการลงทุนเทคโนโลยีการพิมพ์ เทคโนโลยีการพิมพ์ได้รับการลงทุนเพื่อรองรับการผลิตใหม่ๆ ในปี 2562 อาทิ โฆษณา ได้แก่ เครื่องพิมพ์พร้อมตัดดิจิทัลโทนเนอร์ 29 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทหน้ากว้างชนิดพร้อมตัวตัดและม้วน 19 เปอร์เซ็นต์ บรรจุภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทชนิดป้อนแผ่น 27 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องพิมพ์เฟล็กโซ 25 เปอร์เซ็นต์ การพิมพ์เฉพาะทาง ได้แก่ เครื่องพิมพ์พร้อมตัดดิจิทัลโทนเนอร์ 27 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทหน้ากว้างชนิดพร้อมตัวตัดและม้วน 23 เปอร์เซ็นต์ และสิ่งพิมพ์ ได้แก่เ ครื่องพิมพ์พร้อมตัดดิจิทัลโทนเนอร์ 30 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทชนิดป้อนแผ่น 29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากเทรนด์การลงทุนดังกล่าว ทำให้ภาพรวมอุตฯ ปี 2562 ส่อแววสดใส จากการที่ผู้ผลิตสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค


     3. โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมจากเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการปรับแต่งการใช้งานที่หลากหลาย โรงงานและผู้ประกอบการ ได้พัฒนานวัตกรรมและโซลูชันในการผลิตตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น ระยะเวลาการผลิตไวขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงกระบวนการผลิตแบบใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ จากปัจจัยด้านความทันสมัย การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เฉพาะตัวมากขึ้น และเน้นสะดวกสบายในการใช้งาน และตลาดซื้อขายออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดด ส่งผลให้อุตสาหกรรมการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 42 จากรายได้ทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าจะติดอันดับตลาดที่เติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในปี 2563 รวมถึงครองสัดส่วนของตลาดที่มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มากถึงร้อยละ 40 ในปี 2565


     ทั้งนี้ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ร่วมกับ สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย เตรียมจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มหกรรมจัดแสดงสินค้า และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่รวมรวมมาจากกว่า 25 ประเทศชั้นนำทั่วโลก เพื่อเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ประเทศไทยกำลังมองหา รวมถึงจุดเด่นของงาน กับบริการแมทชิ่ง และให้คำปรึกษา ระหว่างคู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และอุตสาหกรรมไทย โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เบียทริซ กล่าวสรุป


     มานิตย์ กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย  กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิตในประเทศสูงถึง 5.83 ล้านตันในปีที่ผ่านมา โดยแบ่งสัดส่วนวัสดุการผลิตจากกระดาษ ร้อยละ 37.74 แก้ว ร้อยละ 30.05 พลาสติก ร้อยละ 24.34 และโลหะ ร้อยละ 7.87 และคาดว่าสิ้นปี 2562 จะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากนโยบายกระตุ้นการลงทุนจากทางภาครัฐ และคาดว่าสิ้นปี 2562 จะมีมูลค่าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 20   


     มานิตย์ กล่าวเพิ่มว่า ด้านนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต ทำให้ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ยังเป็นปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัตถุดิบการผลิตได้ง่าย และผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์เพื่อการถนอมคุณภาพ ยืดอายุการเก็บรักษาของอาหาร ควบคู่นโยบายภาครัฐในเรื่องมาตรฐานบรรจุภัณฑ์และฉลาก ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำจากในประเทศ มีคุณภาพมตราฐานระดับสากล และมีความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ 


     อย่างไรก็ดี นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นข้อท้าทายหนึ่งที่สร้างการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ไทย โดยคาดว่าในช่วงทศวรรษข้างหน้า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์จะมีการพัฒนาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล ดังนั้น ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ผลิตในประเทศ ควรปรับทิศทางธุรกิจให้เท่าทันสถานการณ์ตลาดการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ผลิตภัณฑ์ที่น่าดึงดูด ประหยัดต้นทุน สร้างความยั่งยืนในตลาดที่มีการแข่งขันในระดับสูงยิ่งขึ้นไปอีก มานิตย์ กล่าวทิ้งท้าย


     ด้าน พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย เผยว่า ตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ไทยในปี 2561 มีมูลค่าร่วม 3 แสนกว่าล้านบาท โดยคิดเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์ราวร้อยละ 40 และการบรรจุภัณฑ์ร้อยละ 60 และในปี 2562 ตลาดการพิมพ์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2 เนื่องจากนักลงทุนยังให้ความสนใจประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตที่รายล้อมด้วยประชาคมอาเซียน ที่มีจำนวนผู้บริโภคสูงกว่า 600 ล้านคน


     พงศ์ธีระ กล่าวเพิ่มว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่พร้อมต่อการผลิตรับดีมานด์ดังกล่าว เช่น บริษัทผู้ผลิตกว่า 5,875 แห่งทั่วประเทศ และนิคมอุตสาหกรรมสินสาครบนพื้นที่กว่า 1,579 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตในทุกช่วงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ ที่มีศักยภาพในการผลิตได้แบบครบวงจร และสามารถลดต้นทนการผลิตได้ไปพร้อมกัน ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตในไทยสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลาย ได้คุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรม ในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก เมื่อพูดถึงโอกาสการเติบโต และการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์ และกระดาษในประเทศ สมาคมการพิมพ์สนับสนุนให้โรงงานและผู้ประกอบการตอบรับเทรนด์การผลิตที่น่าสนใจ อย่าง การผลิตคุณภาพสูง การพิมพ์ไฮไฟ (High-fidelity) การพิมพ์ลูกผสมบนหลากหลายวัสดุ (Hybrid) ระบบการสั่งการอัตโนมัติ และโรงงานอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองแนวคิด “แพคเกจจิ้ง 4.0” รวมถึงปรับใช้การพิมพ์ดิจิทัล และกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


     อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองยังมีปัจจัยกระตุ้นการลงทุนจากภายนอกเพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ ทั้งการเป็นประเทศที่สามารถผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษได้ในประมาณมาก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ความพร้อมด้านแรงงาน ร่วมไปกับนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ อาทิ มาตรการจูงใจทางภาษีอากร และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร สำหรับโครงการที่ตรงตามวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น พงศ์ธีระ กล่าวทิ้งท้าย


     รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่ www.pack-print.de หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ PackPrintInternational
 

NEWS & TRENDS