สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่น SME เม.ย.ยังอยู่ในระดับปานกลาง

สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนเมษายน มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง โดยปัจจัยเสี่ยงยังคงเกิดจากกำลังซื้อของประชาชนระดับฐานราก คู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นในธุรกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งภัยแล้งที่จะกระทบกับภาคการเกษตร




     สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ประจำเดือนเมษายน 2562 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME ทั่วประเทศ จำนวน 1,400 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี TSSI ประจำเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2562 ที่อยู่ระดับ 101.4 อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นที่ลดลงยังคงมีค่าอยู่ในระดับฐานที่ 100 สะท้อนถึงผู้ประกอบการมีความเชี่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง
 

     ดัชนี TSSI เดือนเมษายน 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากองค์ประกอบด้านยอดจำหน่าย ต้นทุนและกำไรเป็นหลัก โดยปัจจัยเสี่ยงยังคงเกิดจากกำลังซื้อของประชาชนระดับฐานราก คู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นในธุรกิจ และตามเทคโนโลยีไม่ทัน ขาดทักษะหรือความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการขายสินค้า ความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งภัยแล้งที่จะกระทบกับภาคการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย โดยใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
 

     ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME จำแนกตามสาขาธุรกิจ โดยสาขาธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีค่าเกินค่าฐานที่ 100 ได้แก่ สาขาค้าปลีกสถานีบริการน้ำมัน กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ บริการด้านสุขภาพและความงาม การท่องเที่ยว ด้านการ ขนส่งมวลชน โรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล และร้านอาหาร/ภัตตาคาร
 

     สำหรับดัชนี TSSI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 102.4 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากในช่วงเดือนกรกฎาคมมีช่วงวันหยุดยาว เป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายและเดินทางไปท่องเที่ยวสูงกว่าปกติ อีกทั้งความคาดหวังว่าการเมืองไทยจะไม่มีความวุ่นวาย และได้รัฐบาลมาบริหารประเทศ
 

     ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการ จำนวน 1,400 วิสาหกิจทั่วประเทศ ในเรื่อง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลต่อกิจการอย่างไรพบว่า ผู้ประกอบการมีความเห็นว่า ไม่มีผลกระทบร้อยละ 14.75 โดยให้เหตุผลว่า ปกติได้จ่ายค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว หรือ ไม่มีการจ้างงานหรือทำกันเองภายในครอบครัว
 
           
     จำนวนผู้ประกอบการที่มีความเห็นว่ามีหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำธุรกิจจะได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.61 กำไรลดลง ร้อยละ 10.91 ยอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.59 และได้แรงงานที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 1.13 และธุรกิจจะสามารถแบกรับต้นทุนได้ ร้อยละ 79.55 และไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้เลย ร้อยละ 20.45 ซึ่งผู้ประกอบการที่ตอบว่าแบกรับต้นทุนไม่ได้จะดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.) ลดการจ้างงาน ซึ่งมีผู้ตอบร้อยละ 70.0  2.) ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น มีผู้ตอบร้อยละ 20.8  3.) ตอบอื่นๆ เช่น เพิ่มราคาสินค้า ลดต้นทุน เพิ่มชั่วโมงการทำงาน มีผู้ตอบ ร้อยละ 9.2
 

    โดยผู้ประกอบการมีความเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งมีผู้ตอบว่า   ช่วยได้มาก ร้อยละ 65.3 ช่วยได้น้อย ร้อยละ 22.3 และไม่สามารถช่วยได้เลย ร้อยละ 12.3
 

NEWS & TRENDS