ทีเอ็มบี เสริมแกร่งความรู้เอสเอ็มอีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ทีเอ็มบี เสริมแกร่งความรู้เอสเอ็มอีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เปิดหลักสูตร “LEAN Supply Chain Master” รุ่น 15 เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ลดต้นทุน เน้นผลลัพธ์นำไปใช้ได้จริง




     ทีเอ็มบี ชี้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศในปีหนึ่งๆ กว่า 1.63 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.6 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจหลากหลายประเภทมีทั้งธุรกิจที่เป็นต้นน้ำได้แก่ ธุรกิจเกษตรแปรรูป กลางน้ำได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และปลายน้ำได้แก่ ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีซัพพลายเชนที่เข็มแข็ง และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก โดย ทีเอ็มบี ร่วมกับ สถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม จัดหลักสูตร “LEAN Supply Chain Master รุ่นที่ 15” สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้โครงการ LEAN Supply Chain by TMB เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชนผ่านเทคนิค LEAN Six Sigma มุ่งเน้นการเรียนรู้และนำไปใช้ได้จริงให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถต่อยอดธุรกิจกับผู้ร่วมโครงการในเครือข่ายเดียวกัน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโต “ได้มากกว่า” โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 7 สิงหาคมนี้ อบรมฟรี! รับจำนวนจำกัดเพียง 100 บริษัทเท่านั้น
 

     ดร.รุจิกร ภาวสุทธิไพศิฐ หัวหน้าเจ้าที่บริหารบริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทีเอ็มบีมีแนวทางสนับสนุนให้ SME ไทยสามารถเติบโต “ได้มากกว่า” และต่อยอดธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการในทุกแง่มุมของ SME รวมถึงองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นให้ SME  จัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ชี้ถึงความสำคัญของการลดต้นทุนเพื่อสร้างกำไร เสริมความแข็งแกร่งภายใต้การแข่งขันและปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ผ่านมาได้จัดการอบรมในหลักสูตร  LEAN Supply Chain Master ไปแล้วถึง 14 รุ่นด้วยกัน และมีกว่า 100 โปรเจ็กต์ พบว่าสามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้แล้วกว่า 1,500 ล้านบาท และล่าสุดทีเอ็มบีเตรียมเปิดอบรมรุ่นที่ 15 สำหรับ SME ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ”
 

     โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า มูลค่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยเท่ากับ 1.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.6 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี แบ่งเป็นมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมอาหาร 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี และมีความเชื่อมโยงจากผู้ผลิตที่มีจำนวนกว่า 6,000 ราย ไปจนถึงธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งอาหารรวมกว่า 13,600 ราย นอกจากนี้ ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหาร ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ทั้งนี้อาหารนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็มีความท้าทายอยู่หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของวัตถุดิบอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด และกฎระเบียบมาตรฐานอาหารของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
 

     ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มก็มีความสำคัญเช่นกัน มีมูลค่าตลาดประมาณ 4.75 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี มีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 8,600 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิตกว่า 4,200 ราย และผู้ค้าปลีกค้าส่ง จำนวนกว่า 4,400 ราย โดยมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจทั้งเกษตรแปรรูป บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีทิศทางเติบโตที่ดีจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้บริโภคภายในประเทศและนักท่องเที่ยว อีกทั้งเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยังเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในปัจจุบัน
 

     นอกจากนี้ ยังพบว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีต้นทุนในสัดส่วนค่อนข้างสูง คืออยู่ที่ 83.2 เปอร์เซ็นต์ และ 79.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งหาก SME สามารถลดต้นทุนลงได้จะมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น โดยจากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีพบว่าการลดต้นทุนทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์ ของอุตสาหกรรมอาหาร จะผลักดันให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้น 0.06 เปอร์เซ็นต์ และการลดต้นทุนของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์จะมีส่วนผลักดันให้จีดีพีเติบโตถึง 0.02 เปอร์เซ็นต์
                         

     หลักสูตร “LEAN Supply Chain Master รุ่นที่ 15” สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 7 สิงหาคมนี้ อบรมฟรี !! รับจำนวนจำกัดเพียง 100 บริษัท (บริษัทละ 1 ท่าน) โดยผู้สมัครจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สามารถเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และบริษัทบรรจุภัณฑ์หรือบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทั้งร้านค้าส่งและร้านค้าปลีก เป็นต้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสมัครทางออนไลน์ที่ www.tmbbank.com/lean-supply-chain


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

NEWS & TRENDS