อาเซียน-จีน เพิ่มกลไกแก้ปัญหาการค้า

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ได้ลงนามพิธีสารอาเซียน-จีน 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ พิธีสารเพื่อผนวกข้อบทอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เข้าไปในความตกลงด้านการค้าสินค้า ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน หรือพิธีสาร SPS/TBT และอีกฉบับได้แก่ พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทั้งนี้ พิธีสารทั้งสองฉบับจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2556

 


นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ได้ลงนามพิธีสารอาเซียน-จีน 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ พิธีสารเพื่อผนวกข้อบทอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เข้าไปในความตกลงด้านการค้าสินค้า ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน หรือพิธีสาร SPS/TBT และอีกฉบับได้แก่ พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทั้งนี้ พิธีสารทั้งสองฉบับจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2556

ทั้งนี้พิธีสาร SPS/TBT เป็นพิธีสารที่จะทำให้ความตกลงการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนกับจีน มีความทันสมัย และครอบคลุมประเด็นด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) และประเด็นด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ที่จะมีกลไกรองรับ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงจัดการกฎระเบียบทางเทคนิคด้านการค้าให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งยังมีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในอันที่จะพัฒนากฎระเบียบทางการค้าให้ตอบสนองเทคโนโลยีการผลิตสินค้า ตรงต่อความต้องการของภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ต่อไปนี้ หากภาคเอกชนส่งสินค้าไปยังเมืองท่าต่างๆ ของจีนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน แล้วถูกกักกันสินค้าไว้อันเนื่องมาจากเหตุผลด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือสุขอนามัยหรือสุขอนามัยพืช ก็จะมีกลไกดังกล่าวคอยตรวจสอบ แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

สำหรับ พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน นั้น มีสาระสำคัญเพื่อปรับปรุงกลไกการดำเนินงานเดิม จากคณะเจรจาการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Trade Negotiating Committee: ACTNC) ไปเป็นคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA Joint Committee: ACFTA-JC) เพื่อให้คณะกรรมการร่วมฯ มีสถานะทางกฎหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมทั้งด้านเจรจาการค้าและการปฎิบัติตามพันธกรณี (Negotiation and Implementation) รวมถึงสามารถตั้งคณะคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานในสาขาเฉพาะต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของคณะกรรมการร่วมฯ ซึ่งกลไกดังกล่าวนี้ถือเป็นกลไกที่ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เป็นผู้ริเริ่ม โดยไทยเห็นว่ากลไกดังกล่าวจะช่วยให้การติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีและการเจรจาต่อไปในอนาคตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ จีนนับเป็นประเทศที่มีความสำคัญกับทั้งอาเซียนและไทย โดยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนและตลาดส่งออกอันดับ 2 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีน โดย 20 ปีที่ผ่านมา นับจากที่อาเซียนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนในปี 2534 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น 45 เท่า จาก 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2534 เป็น 362.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 สำหรับในปี 2555 นี้ (มกราคม-กันยายน) การค้าอาเซียน-จีน มีมูลค่า 288.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับสัดส่วนการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนครึ่งปีแรกของปี 2555 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 81.03
 

NEWS & TRENDS