ทีเส็บยกระดับงานไมซ์ในชุมชน กระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ กระจายรายได้สู่ภูมิภาค

ทีเส็บ เผยนโยบายส่งเสริมชุมชนเข้าสู่ตลาดไมซ์ได้ผลดี งานส่งเสริมชุมชน 4 กิจกรรมสร้างรายได้แล้วเกินร้อยล้านบาท พร้อมยกระดับด้วยกิจกรรม “ไมซ์โชว์เคส” เปิดตลาดให้ชุมชนเสนอบริการจัดประชุมสัมมนาให้แก่หน่วยราชการและเอกชน กระจายรายได้สู่ภูมิภาค




     ทีเส็บ เผยนโยบายส่งเสริมชุมชนเข้าสู่ตลาดไมซ์ได้ผลดี งานส่งเสริมชุมชน 4 กิจกรรมสร้างรายได้แล้วเกินร้อยล้านบาท  พร้อมยกระดับด้วยกิจกรรม “ไมซ์โชว์เคส” เปิดตลาดให้ชุมชนเสนอบริการจัดประชุมสัมมนาให้แก่หน่วยงานราชการและเอกชน เพื่อกระจายรายได้สู่ภูมิภาค


      จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัด “โครงการไมซ์เพื่อชุมชน” ขึ้น คัดเลือกชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดหมายใหม่รองรับการจัดงานไมซ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งฝึกอบรม ศึกษาดูงาน การจัดกิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่ ตลอดจนกิจกรรมพิเศษผ่านการสร้างสรรค์ที่เหมาะกับอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่สอง ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 85 แห่ง


      ทีเส็บมีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมการตลาด อาทิ การจัดทริปนำกลุ่มผู้แทนองค์กรหน่วยงานเยี่ยมชมสหกรณ์ที่มีความพร้อมรองรับการจัดประชุมสัมมนา เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนได้พบปะพูดคุยกับองค์กรหน่วยงาน เรียนรู้ความต้องการของตลาดลูกค้า เพิ่มทักษะในการพัฒนาสถานที่และสินค้าบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาประชุมสัมมนาและจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกันทางด้านองค์กรหน่วยงานลูกค้ามีโอกาสได้เห็นสินค้าบริการ ตลอดจนสัมผัสประสบการณ์และวิถีชีวิตของชุมชนด้วยตนเอง    





     การจัดงาน ไมซ์เพื่อชุมชน “เปิดมิติใหม่ อุตสาหกรรมไมซ์” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีเส็บร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดงาน “ไมซ์โชว์เคส” แสดงสินค้าจากสหกรณ์คุณภาพที่เข้าร่วมโครงการไมซ์เพื่อชุมชนปีที่ 2 โดยมีตัวแทนสหกรณ์เข้าร่วมจำนวน 25 แห่ง ภายในงานมีการแสดงสินค้า ของดีในพื้นที่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ (Max Beef) สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน สหกรณ์เกษตรนิคมชุมแสงจันทร์ เป็นต้น โดยกำหนดจัดงานขึ้น ณ ลานอาคาร B อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ


     ปัจจุบันโครงการไมซ์เพื่อชุมชนมี 5 เส้นทางนำร่องเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ได้แก่ 1) สหกรณ์บ้านลาด จ.เพชรบุรี 2) สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จ.สระบุรี 3) สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนและสหกรณ์โคนม จ.นครปฐม 4) สหกรณ์นิคมวังไทร  และ 5) สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์  จ.ระยอง  สหกรณ์ทั้งหมดพร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานและสถานที่จัดกิจกรรมรองรับทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นทางเลือกสำหรับการจัดประชุมนอกสถานที่ และในพื้นที่ยังมีวิถีชุมชนที่น่าสนใจอีกมากมาย
               

     สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชนสหกรณ์และองค์กรหน่วยงานที่สนใจจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา มีทั้งองค์ความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการจำหน่ายและบริการ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป บริการปั๊มน้ำมัน ธุรกิจสินเชื่อ เปิดโรงงานแปรรูปนม รวมถึงอาหารสัตว์ ครอบคลุมด้านการตลาด และการพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการซึ่งจะช่วยพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในระยะยาว


     ด้านสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน  เป็นสหกรณ์ที่เหมาะสำหรับการประชุมต่างจังหวัดในระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตามแนวคิด “ประชุม เที่ยว เรื่องเดียวกัน” โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การสาธิตการปรุงเนื้อโคพันธุ์กำแพงแสน สเต็กเนื้อนุ่ม การแนะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อโค อีกทั้งยังสามารถเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปนมสดแบบครบวงจรในเส้นทางนี้ด้วย   โดยแวะชิมเมนูขายดีของร้านค้าสหกรณ์ อาทิ นมพาสเตอร์ไรส์หลากหลายรสชาติและนมผสมวุ้นมะพร้าว เป็นต้น


     สหกรณ์นิคมวังไทร จังหวัดระยอง โดดเด่นด้านนวัตกรรมการเกษตรของทุเรียน อาทิ การทำ QR Code เพื่อให้ข้อมูลทุเรียน หรือโครงการจองทุเรียนล่วงหน้าที่นับว่าเป็นโครงการใหม่ และมีไฮไลท์สำคัญ คือ การชิมผลไม้สดจากต้น และเยี่ยมชมการดูแลสวนทุเรียนของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์อีกด้วย และด้านสหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จังหวัดระยอง มีความพร้อมของพื้นที่ห้องประชุมและอาคารรองรับการจัดประชุมสัมมนา  การเลือกซื้อผลิตผลและของฝากจากสมาชิกสหกรณ์และชุมชนใกล้เคียงจากตลาดที่ชาวบ้านมาขายด้วยตัวเอง สามารถสร้างรายได้โดยตรงให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี





     ผลสำเร็จหลังจากเดินหน้าโครงการ "ไมซ์เพื่อชุมชน" ปีที่ 2 สร้างมูลค่าเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชนที่เป็นแหล่งศึกษาดูงานแล้วกว่า 100 ล้านบาท ส่งผลต่อการสร้างรายได้และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านการพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานองค์กรและชุมชนที่ร่วมจัดกิจกรรมและประชุมสัมมนาในพื้นที่


     ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า ปีนี้ทีเส็บริเริ่มอีกหลายโครงการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์พัฒนาไปสู่กลุ่มเป้าหมายชุมชนผ่านโมเดลสามประสาน บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคเอกชน และชุมชนในบริบทที่แตกต่างกันไปตามภูมิสังคม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการรองรับการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สอดคล้องนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อสร้างสังคมยั่งยืนทั่วประเทศ


     นวัตวิถีไมซ์ เป็นความร่วมมือระหว่างทีเส็บลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) เพื่อส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีสู่อุตสาหกรรมไมซ์ คัดเลือก 8 ชุมชนใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงาน ภายใต้การลงนามความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงานนี้ และร่วมกันจัดงาน OTOP Midyear 2019 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทีเส็บสนับสนุนกิจกรรมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ภายในงาน ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดีจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยตลอดการจัดงาน 9 วัน มีการเจรจาซื้อขายคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 40 ล้านบาท





     สัมมนารอบกรุง
จับมือกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT โดยจัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก มุ่งสรรหาเส้นทางไมซ์ใหม่ในระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มองค์กรหน่วยงานจัดประชุมสัมมนาและเดินทางเพื่อเป็นรางวัลให้กับพนักงาน โดยเน้นด้านการพัฒนาบุคลากรและการสร้างทีมเวิร์คเป็นหลัก ปีนี้กำหนดจัดกิจกรรมพาผู้แทนองค์กรหน่วยงานเข้าร่วมใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา บางกระเจ้าสมุทรปราการ และนครปฐม โดยมีผู้แทนองค์กรเข้าร่วมกว่า 105 ราย สำหรับปีหน้ามีแผนขยายเส้นทางไมซ์ใหม่ไปยังภาคกลางตอนบนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสระบุรี เพื่อกระตุ้นการเดินทางจัดประชุมสัมมนาขององค์กรหน่วยงานภายในประเทศกระจายสู่รอบกรุงเทพมากขึ้น
 

     ยกทีมชมถิ่น นำเสนอ 4 เส้นทางหลักด้วยแนวคิดที่มีเอกลักษณ์ คือ Digital Detox : ปราจีนบุรี / Do Act Share : สมุทรสงคราม / Creative Thinking : เชียงใหม่ และ Empower Teamwork : กระบี่ โดยออกแบบแนวคิดเส้นทางกิจกรรมตามจุดประสงค์การประชุมสัมมนา เช่น พัฒนาบุคลากร สร้างทีมเวิร์ค ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ อาทิ ดิจิทัล หรือความคิดสร้างสรรค์ นำมาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ วิถีภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้พนักงานและผู้ร่วมงานสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ที่แตกต่าง พร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางผ่านสื่อออนไลน์กระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศขององค์กรทุกภาคส่วน


     “ตลอดปี 2562 ทีเส็บพัฒนาหลากหลายโครงการไมซ์สู่ชุมชน ผ่านโมเดลสามประสาน ผนึกความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน ทั้งโครงการไมซ์เพื่อชุมชน นวัตวิถีไมซ์ สัมมนารอบกรุง และยกทีมชมถิ่น มั่นใจว่าการดำเนินงานตามโมเดลการพัฒนาไมซ์สู่ชุมชนนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ไทยสู่เป้าหมายในปี 2562 ด้านจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศ 33,011,322 คน และก่อให้เกิดรายได้ 117,301 ล้านบาท  รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนมุมมองและความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างชุมชนและกลุ่มลูกค้าใหม่จากองค์กรหน่วยงานที่จัดประชุมสัมมนา นำไปสู่การขยายการพัฒนาสินค้าและรูปแบบการให้บริการใหม่ตอบโจทย์นักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานทั่วประเทศ สร้างรายได้และความเจริญอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาไมซ์สู่ชุมชนทั่วทุกภูมิภาค” จิรุตถ์ กล่าวสรุป
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS