ดีไอทีพี ชวนเบิ่ง 2 ทำเลทองตลาด สปป.ลาว

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดโครงการสัมมนา “ติวเข้ม...รู้ลึก รู้จริง รู้ใจลาว” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความรู้และเข้าใจการทำธุรกิจในประเทศลาว รวมทั้งเปิดโอกาสให้เห็นช่องทาง - พื้น..




     พูดถึง “สปป.ลาว” ทุกคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะนี่คือ บ้านพี่เมืองน้องของไทยบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่า “ลาว” กำลังเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมทั้งเป็นประเทศน้องใหม่ที่ควรค่าการลงทุน ทั้งด้วยปัจจัยจากอัตราการขยายตัวของ GDP ที่มีกราฟพุ่งอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนแลนด์มาร์คที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ประตูการค้าหรือแลนด์ลิ้งค์ (Land link)” ด้วยพื้นที่ที่ยาวและมีพรมแดนดินต่อกับประเทศสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา จึงเอื้อต่อระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ถึงแม้ว่าลาวจะมีประชากรเพียงแค่ 7 ล้านคน แต่เชื่อหรือไม่ว่าทรัพยากรเหล่านี้มีกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ที่เป็นแบรนด์ไทย ซึ่งครองใจผู้บริโภคชาวลาวมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น
 

     กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดโครงการสัมมนา “ติวเข้ม...รู้ลึก รู้จริง รู้ใจลาว” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความรู้และเข้าใจการทำธุรกิจในประเทศลาว รวมทั้งเปิดโอกาสให้เห็นช่องทาง - พื้นที่ที่เหมาะแก่การเข้าไปลงทุน ตลอดจนเข้าถึงพฤติกรรมการเลือกสินค้าและการบริโภคของชาวลาวแบบอินไซด์
 

  • ตีตลาดใหม่กับ 2 ดินแดนเมืองลาวตอนเหนือ
 
     เริ่มกันที่ แขวงอุดมไซ เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองสิบสองปันนา ของประเทศจีน  อาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพกสิกรรม และอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนของต่างประเทศที่แขวงอุดมไซมีมากถึง 36 โครงการ มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนในแขวงอุดมไซโดยการสร้างสมาร์ทซิตี้ ซึ่งถือว่าเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้แขวงอุดมไซเป็นเมืองที่รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาววิ่งผ่าน โดยในอนาคตจะถูกขยายให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์  เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและการดรอปสินค้ามากยิ่งขึ้นซึ่งถือว่าเป็นการรองรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่จะเปิดบริการภายในปี 2564 ดังนั้นการทำธุรกิจในด้านโลจิสติกส์ จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตในแขวงนี้ 
 

     ตลาดต่อมาคือแขวงหลวงน้ำทา มีพื้นด้านเหนือติดกับจีนบริเวณมณฑลยูนนาน และด้านทิศตะวันตกติดกับเมียนมา ด้วยกายภาพที่มีเขตติดต่อกับหลายประเทศ รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งเมืองที่รถไฟไทยจีน-ลาวตัดผ่าน ส่งผลให้การเดินทางและการขนส่งจะมีความรวดเร็ว ทำให้แขวงหลวงน้ำทากลายเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง และมีศักยภาพในด้านลงทุนสูงมาก อีกทั้งในอนาคตแขวงหลวงน้ำทาจะกลายเป็นด่านพรมแดนที่สำคัญที่จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้แขวงหลวงน้ำทาตั้งอยู่บนเส้นทาง R3 ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อม ไทย (เชียงราย) – ลาว – จีน (คุนหมิง) โดยบริเวณด่านสากลบ่อเต็น ทำให้กลายเป็นจุดขนถ่ายสินค้าเข้าสู่จีนทั้งทางบก และทางแม่น้ำโขงที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง
 
  • สูตรสำเร็จพิชิตใจชาวลาว
 
     พฤติกรรมการเลือกสินค้าของชาวลาวนั้นมักจะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและเชื่อมั่นกับสินค้ายี่ห้อเดิมที่เคยใช้เป็นประจำและเชื่อมั่นว่าสินค้าที่ออกสูตรใหม่ต้องดีกว่าสูตรเดิมเสมอ ดังนั้นหากมีการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ จะต้องระบุชัดเจนว่าเป็น “สูตรใหม่” และด้านคุณภาพของสินค้าจะต้องดีกว่าสูตรเดิม และต้องรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง  ไม่เช่นนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อสินค้า เนื่องจากชาวลาวส่วนมากมักจะเชื่อมั่นคนรอบข้างมากกว่าโฆษณาในลักษณะการพูดกันแบบปากต่อปาก  หากคนใกล้ชิดบอกว่าดีจะเกิดพฤติกรรมซื้อตาม ดังนั้นหากสินค้าไม่ดีจริงย่อมมีผลกระทบต่อยอดขายอย่างแน่นอน  นอกจากนี้ ชาวลาวยังเชื่อเรื่องความหมายของคำ ฉะนั้นชื่อสินค้าจะต้องเป็นคำที่มีความหมายมงคล เช่น “มีทรัพย์” “มีโชค” และควรเป็นชื่อที่ง่ายต่อการจดจำด้วย
 

     อย่างไรก็ตาม ชาวลาวเชื่อมั่นในสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่สินค้าไทยจะมีโอกาสส่งออกและเจาะตลาดลาวได้  ส่วนการทำการตลาดออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการไม่ควรเน้นการขายสินค้าผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพียงช่องทางเดียว เพราะอัตราการใช้เฟซบุ๊กของชาวลาวมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากต้องการทำโฆษณาควรเลือกใช้ข้อความจูงใจหรือเลือกติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในจุดที่มองเห็นได้ชัดเจนและทั่วถึง เช่น ติดตามรถรับจ้าง หรือตามข้างทาง แต่วิธีการนี้จะต้องระวังเรื่องการใช้ภาษาแม้ว่าภาษาอีสานของไทยจะคล้ายกับภาษาลาวแต่ความหมายของคำบางคำต่างกัน

 
     ยานี ศรีมีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว  กล่าวว่า  หากพูดถึงสปป.ลาว คนทั่วไปอาจจะนึกถึงเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์และเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง เนื่องจากทั้งสองเมืองมีความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งหากจะเข้าไปทำธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องมองหาทำเลใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตทั้งระบบการขนส่งและการขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะพื้นที่สปป.ลาวตอนเหนือในแขวงอุดมไซ และแขวงหลวงน้ำทา เนื่องจากทั้งสองเมืองเป็นเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีนและกำลังจะมีรถไฟลาว - จีนระยะทาง 421 กิโลเมตร ที่มีบริการทั้งแบบขนสินค้าใช้ความเร็ว120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และขนส่งผู้โดยสารใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2564 โดยรถไฟความเร็วสูงจะมีแนวเส้นทางจากด่านสากลบ่อเต็น ในแขวงหลวงน้ำทา  แขวงอุดมไซ มายังสถานีรถไฟท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งสถานีนี้เป็นจุดเชื่อมต่อข้ามแดนมายังไทยบริเวณจังหวัดหนองคาย ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นข้อดีที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเข้าไปลงทุนหรือแม้แต่การย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งตามแนวรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณแขวงอุดมไซ  นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมที่จะผลักดันสินค้าไทยให้ต่อยอดออกไปยังประเทศอื่นๆไม่ว่าจะเป็นจีน หรือเวียดนามด้วย 
 

     ด้าน นันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า สถาบันได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการทำธุรกิจในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการสัมมนา“ติวเข้ม...รู้ลึก รู้จริง รู้ใจลาว” เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รู้ทิศทางการทำธุรกิจในสปป.ลาว เพราะขณะนี้สปป.ลาวถือว่าเป็นประเทศที่น่าจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเปิดประเทศให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในลาวมากยิ่งขึ้น  ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลที่ผู้ประกอบการไทยได้รับจากผู้มีความรู้และประสบการณ์จะเป็นประโยชนที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ  นอกจากนี้ยังได้เห็นความสำคัญในการถ่ายความรู้และมุ่งเน้นการยกระดับบริการภาครัฐด้วยนโยบาย “Sharing Economy” หรือ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” โดยการเปิดโอกาสให้ทุกคนในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากผู้ที่เก่งที่สุดในแต่ละด้าน  ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงโอกาสการทำธุรกิจในประเทศอื่นๆได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

NEWS & TRENDS