มรภ.สวนสุนันทา จุดประกาย SME ไทย เปิดโลกตลาดออนไลน์…ขายสินค้าต้องให้โลกจำ!

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รับมอบหมายจากสสว. ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาด SME ในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 28 จังหวัด ช่วง 6–7 เดือนที่ผ่านมา เปิดอบรมให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการระดับเริ่มต้นที่ยังไม่มีร้านค้าออนไลน์ 2.กลุ่มผ..




     มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รับมอบหมายจากสสว. ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาด SME ในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 28 จังหวัด ช่วง 6–7 เดือนที่ผ่านมา เปิดอบรมให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการระดับเริ่มต้นที่ยังไม่มีร้านค้าออนไลน์ 2.กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ มีการขายสินค้าในระบบออนไลน์แล้ว และ 3.กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง
               

     อาจารย์ยงยุทธ เจริญรัตน์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะผู้จัดการโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2562 กล่าวถึงแนวทางการนำผู้ประกอบการ SME ไทยสู่ช่องทางตลาดออนไลน์ในช่วงเฟสแรก ที่ดำเนินมาเป็นปีที่ 3  ส่วนความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนั้น  ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มระดับเริ่มต้น เริ่มมีออเดอร์แรกเข้ามาแล้ว ส่วนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ บางรายยอดขายอาจจะไม่ได้เพิ่ม แต่สามารถบริหารจัดการนำสินค้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงมากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของโครงการเช่นกัน
               

     โดยการจัดอบรม SME Online มีความหลากหลายทั้งประเภทผู้เข้าอบรมและสินค้าที่ต้องจำหน่าย จึงได้แบ่งการอบรมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ประกอบการระดับเริ่มต้น ที่ยังไม่มีร้านค้าออนไลน์ การอบรมจะให้ความรู้เบื้องต้นไปจนถึงวิธีการเปิดร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าอบรมจำนวน  2,450 ราย 2) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ มีการขายสินค้าในระบบออนไลน์แล้ว การอบรมเป็นการสอนเทคนิคต่างๆ เช่น การใช้เฟซบุ๊กในการโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอนการใช้อี-มาร์เก็ตเพลส การเปิดร้านค้าอีคอมเมิร์ซผ่านทางเทพ shop และ 3) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง จะเน้นสอนเปิดเว็บไซต์ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ หรือที่เรียกว่า Sale Trade ผู้เข้าอบรมทั้งสองกลุ่มมีจำนวน 1,050 ราย และอีกกลุ่มพิเศษ ประมาณ 30 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ชำนาญการด้านการขายออนไลน์ โครงการจะเน้นให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวหรือให้คำปรึกษาเชิง Grouping
               

     ตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จ เคสแรก ได้แก่ ป้าตา หรือ นางอมราวดี สงวนศักดิ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์แชมพูสมุนไพร ภายใต้ชื่อแบรนด์อมรา ซึ่งเริ่มต้นทำธุรกิจภายหลังจากวัยเกษียณ ด้วยการซื้อแฟรนไชส์ร้านกาแฟมาในราคาตัวเลข 6 หลัก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ จนภายหลังได้คิดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่างๆ อาทิ น้ำมันนวดเข่า, ยาสระผมหยุดผมร่วง ซึ่งนำมาจากปัญหาที่ตัวเองประสบ จนภายหลังสามารถสำเร็จ และเริ่มต้นสู่การขายออนไลน์


     เคสที่สอง คือ ครกหินอ่างศิลา จาก จินดาภา แซ่ลี้  เจ้าของธุรกิจลี้ศิลา ผู้ผลิตและจำหน่ายครกอ่างศิลา ของดีขึ้นชื่อของจังหวัดชลบุรี ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้แต่ครกหินก็สามารถขายบนออนไลน์ได้จริงๆ
           

     และเคสสุดท้าย เอ้กเครป หรือ ไข่กรอบ ของ วรัญญา  ธนวรางกูร ภายใต้แบรนด์ My Mellow จากฉะเชิงเทรา พัฒนาคิดค้นเปลี่ยนจากขนมไข่ให้กลายมาเป็นเครป ที่วันหนึ่งประสบปัญหาจากการขายหน้าร้านจนภายหลังได้มาลองขายในออนไลน์ จนสามารถประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ในภายหลัง
               

     “ประเภทสินค้าที่เข้ามาอบรมมีความหลากหลาย บางสินค้าเป็นโอทอป เช่น ครกอ่างศิลา ไข่เค็ม สินค้าทุกประเภทขายผ่านทางออนไลน์ได้ เพียงใช้วิธีการโพสต์ การเขียนเรื่องราว บางประเภทเป็นสินค้าเฉพาะทาง เช่น ชุดเทควันโดมือสอง โครงการจะสอนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่เฉพาะเหมาะกับผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ หรือสินค้านวัตกรรมใหม่ เช่น เครื่องดักยุง ทั้งนี้สินค้าทุกประเภทขายได้ยอดขายดีบนออนไลน์ หากเราต้องใช้วิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ” อาจารย์ยงยุทธกล่าว


     ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการขยายกิจการ สามารถติดตามได้ที่ www.sme.go.th
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS