สวทช. ร่วมกับ TMA เปิดประเด็นนวัตกรรมอาหารเพื่อมนุษยชาติ

“เมืองนวัตกรรมอาหาร” (Food Innopolis) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานประชุมนานาชาติ Food Innopolis International Symposium 2019 ขึ้นเป็นครั้ง ..




     “เมืองนวัตกรรมอาหาร” (Food Innopolis) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานประชุมนานาชาติ Food Innopolis International Symposium 2019 ขึ้นเป็นครั้ง 2 ในประเทศไทย เพื่อตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมอาหารและกระบวนการเกษตรอุตสาหกรรม และกระบวนการการผลิตอาหารที่ยั่งยืน โดยปีนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 ท่าน จากประเทศไทยและจากทั่วโลก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์ ภายใต้แนวคิด “FROM TRADITION TO INNOVATION – The Art & Science of Food”
 

     ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลและบริหารงานเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอาหารในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 8.4 และมีสัดส่วนแรงงานสูงถึง 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรในประเทศไทย 69 ล้านคน นวัตกรรมที่เข้ามาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกวงการ ในการนี้อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรจำเป็นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนยุคใหม่ที่ต้องการอาหารสะอาด สะดวก และรวดเร็ว จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนที่มีคุณภาพ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องมาหารือและร่วมกันเพื่อมองหาทางออกที่ดีที่สุด  ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่จะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับโลกในอนาคต”
 

     ด้าน วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ผู้ร่วมจัดงานกล่าวว่า “TMA ในฐานะที่ผลักดันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของประเทศมาตลอดระยะเวลา 12 ปี  ตระหนักดีว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Strategic Sector) สำคัญของประเทศไทย เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานอยู่บนเกษตรอุตสาหกรรมและยังอุดมสมบุรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่มีความเป็นมายาวนานและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จึงได้เข้ามาร่วมริเริ่มจัดการสัมมนาระดับนานาชาติ ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและต่างประเทศด้านนวัตกรรมอาหาร ทั้งด้านเทคนิคและการบริหารจัดการเข้ามานำเสนอมุมมองและกระบวนการ ในงานนี้ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ จากอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำการประสานนโยบายเข้ากับการขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม”
 

     ทั้งนี้ แบรดลี่ย์ คริท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Future 50 Research, Institute for the Future (IFTF), U.S.A ได้คาดการณ์ภาพอนาคตของอาหารว่า สิ่งที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารในอนาคตมี 2 ประการใหญ่ ๆ ประการแรก การนำอาหารเข้าสู่ระบบดิจิทัลจะก่อให้เกิดสงครามทรัพย์สินทางปัญญา มีผลต่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงลักษณะของนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป  ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อแรงงานภาคเกษตรและการเพาะปลูกพืชแบบดั้งเดิม รวมถึงสร้างความเสี่ยงมหาศาลพร้อมแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับอีกหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความอดอยาก สงคราม และสภาพการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ
 

     ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในกรรมวิธีการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการจำหน่ายอาหาร รวมทั้งจำเป็นต้องมีกระบวนการแนวใหม่ในการสร้างนวัตกรรม ในส่วนของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืน ภายใต้แนวคิดขององค์การสหประชาชาติ (UN SDG’s)  หนึ่งใน 17 เป้าหมายเป็นเรื่องของการขจัดความหิวโหย ซึ่งพันธมิตรหลากหลายภาคส่วนจากนานาประเทศได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางปฏิรูปด้านความมั่นคงทางอาหารของประชาคมโลก
 

     ดังนั้นแล้วอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดมหึมาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงประชากรโลก จำเป็นจะต้องปฏิวัติระบบการผลิตใหม่ทั้งกระบวนการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

NEWS & TRENDS