สถาบันยานยนต์ และ เจโทร เตรียมพร้อมผู้ประกอบการ รับมือกฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า

สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น แนะนำ “กฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า” เน้นประโยชน์สู่ผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย




     สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ  แนะนำ “กฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า” เน้นประโยชน์สู่ผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย
 
               
     สถาบันยานยนต์และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)  ได้มีความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาภาคี (Letter of Intent: LOI) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 กรอบระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2561 – 2563) โดยมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ในขอบเขตของความร่วมมืออยู่ 3 ด้าน คือ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ 3. การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงความรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า
 

     อดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ  “กฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า” กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ซึ่งส่งผลให้เกิดการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการชักนำให้บริษัทผู้ผลิตชั้นนำต่างๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในช่วงที่ผ่านมา
 

     “ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ด้วยความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนา การเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้กฎระเบียบและมาตรฐานระดับสากลในอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่เสมอ จนเป็นที่ยอมรับในระดับเอเชีย และระดับโลก รวมถึงยังได้สร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ตามมากับอุตสาหกรรมยานยนต์ จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยในรูปแบบที่เรียกว่า “คลัสเตอร์”ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ไทยและญี่ปุ่น ทั้งด้านนโยบายการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้เสมอมา กระทั่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต่อเนื่องด้านการเจริญเติบโต อีกทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยยังได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและซื้อขายชิ้นส่วนของภูมิภาค ตลอดจนเป็นฐานการผลิต (Base of Production) ที่สำคัญของญี่ปุ่น
 

     อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ เรียกว่า A-C-E-S (Autonomous, Connected, Electric and Sheared) Technology นอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านการใช้งานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งด้านแรงงาน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมมือกับเจโทร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งสองประเทศ
 

     จากนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ประกอบด้วย กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) จำนวน 4 ราย กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) จำนวน 5 ราย และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) จำนวน 4 ราย
 

     อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ในประเทศไทย 2 ล้านคัน เป็นการผลิตโดยผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นถึงร้อยละ 86% ดังนั้นในยุคของยานยนต์อนาคต ญี่ปุ่นนั้นคาดว่าจะยังคงครองตลาดด้านรถยนต์ไฟฟ้า และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไป ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง  ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกอบรมวิศวกร รวมถึง "กฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า" ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยมีความจำเป็นในอนาคต เพื่อกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย สำหรับความร่วมมือกันระหว่างไทยและญี่ปุ่นในวันนี้ จะมีประโยชน์ต่อการสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ และทำให้สามารถขยายตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป โดยเจโทร กรุงเทพฯ จะเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตในประเทศไทย โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง
 

      อดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก จากตลาดขนาด 9,606 11,983 และ 20,204 คัน ในปี พ.ศ. 2559  ถึง พ.ศ. 2561 ตามลำดับ และในปี พ.ศ. 2562 นี้ ปริมาณจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กันยายน มีจำนวนถึง 20,678 คัน และอาจมีจำนวนรวมในปี พ.ศ. 2562 กว่า 30,000 คัน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งนี้ ทางสถาบันได้เล็งเห็นถึงการแปลี่ยงแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงจัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายว่า “ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค โดยจะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และ 1.5 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยร้อยละ 15 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และร้อยละ 60 เป็นรถยนต์ที่มีความสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 ส่วนรถที่ใช้ในกิจการที่เป็นสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถสามล้อ รถจักรยานยนต์ ทั้งหมดจะเป็นรถ BEV ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในระยะยาวที่ ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยการทำวิจัยและพัฒนาควบคู่กับการเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูง


     อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ยางล้อ และกลุ่มตัวถังที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบา” และเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ สถาบันฯ ได้เสนอนโยบายที่ต้องดำเนินการรวม 14 เรื่อง โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดทำมาตรฐานและเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกิจกรรมจากความร่วมมือในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ นอกจากด้านการผลิตยานยนต์แล้ว ยังมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมาก ดั้งนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยให้มุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่นั้น ถือว่าเป็นทิศทางในการพัฒนาที่ถูกต้องแล้ว
 

     ความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในวันนี้ นอกจากจะเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันยานยนต์และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจาก The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (METI) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศญี่ปุ่นและไทย ที่ได้ร่วมมือกันผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เหมาะสม และเกิดเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างถึงที่สุด และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ดี ให้กับอนาคตของประเทศไทยต่อไป ตลอดจนความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และอื่น ๆ ของทั้งสองประเทศต่อไป
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS