เวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปีที่ 11 หนุนสร้าง “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจผู้บริโภค”

ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด สนับสนุนแนวคิดสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สอดรับเทรนด์สุขภาพคนเมือง-ความต้องการของตลาดโลก ร่วมกันจัดเวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2562 ซึ่งดำเนินมาถึง..




     ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด สนับสนุนแนวคิดสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สอดรับเทรนด์สุขภาพคนเมือง-ความต้องการของตลาดโลก ร่วมกันจัดเวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2562 ซึ่งดำเนินมาถึงปีที่ 11 ภายใต้แนวคิด "เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจผู้บริโภค"
 

     โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่เป็นมิตรต่อทุกชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยเริ่มจากการสร้างความยั่งยืนให้กับตนเองแล้วส่งต่อให้กับผู้อื่น ด้วยการเกษตรวิถีอินทรีย์แบบครบวงจร ตั้งแต่ กระบวนการปลูก การแปรรูปเพิ่มมูลค่า การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านการตลาด โดยยึดหลักสำคัญทั้ง 4 ประการ คือ สุขภาพ(health) นิเวศวิทยา(ecology) ความเป็นธรรม(fairness) และการดูแลเอาใจใส่ (care) นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly) ตั้งแต่กระบวนผลิต การขนส่ง การบริโภค ไปจนถึงการจัดการและกำจัดของเหลือใช้ในฟาร์ม
 

     สำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาหารปลอดภัยเป็นความท้าทายหนึ่งของโลกที่กำลังเผชิญ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันรัฐบาลได้เห็นความสำคัญในการผลักดันประเด็นดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564
 

     ทั้งนี้ในกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ได้มีการจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เกษตรกรและผู้บริโภค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่และจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มสัดส่วนตลาดเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
 

     ด้าน บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด มีความมุ่งหวังเชิดชูเกษตรกรตัวอย่าง และขยายแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด “เกษตรวิถีอินทรีย์แบบครบวงจร” โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ อันได้แก่ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหารจานด่วน อาหารแปรรูป และอาหารปรุงแต่งที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยากต่อการคัดเลือกวัตถุดิบ ดังนั้น การเลือกบริโภคอาหารที่มีวัตถุดิบอินทรีย์ถือเป็นทางเลือกในการรับประทานอาหารของคนเมือง เพื่อการรับประทานที่อุดมไปด้วยโภชนาการและปราศจากสารปนเปื้อน
 

     ทางฝั่ง อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้กล่าวว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก และการเปลี่ยนรูปแบบของวิถีชีวิตจากชนบทสู่เมืองที่เพิ่มมากขึ้น (Urbanization) โดยประชากรเมืองจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 30 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้เกิดความตระหนักในความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งสามารถติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตได้ (Traceability)
 

     เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของโลกที่เน้นความยั่งยืนทางอาหารมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้ห่วงโซ่ทางการเกษตรมีประสิทธิภาพผ่านการทำเกษตรอย่างแม่นยำ (precision farming) ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (data) ที่ได้จากแปลงเกษตรจริง ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยมากขึ้น ลดการพึ่งพาสารเคมี สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
 

     สำหรับผลการตัดสินเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2562 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ปรีชา หงอกสิมมา จากจังหวัดขอนแก่น ผู้ผลิตพืชผักและสมุนไพรอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “WANAPHANW” (วรพรรณ) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โกสินธุ์ สุวรรณภักดี จากจังหวัดมหาสารคาม ผู้คิดค้น ต่อยอด สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ "กล้วยเสียบตอก" และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ กล้วย ดวงคำ จากจังหวัดอุดรธานี ผู้นำกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ที่มีเครือข่ายข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานออร์แกนิค สามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศในนาม "ข้าวอินทรีย์บ้านเชียงเพ็ง”
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS