ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี จัดเต็มความรู้ เจาะลึกอินไซต์ เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยต่อยอดธุรกิจ

ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ตอกย้ำแนวคิดให้ SME “ได้มากกว่า” ด้วยการเสริมองค์ความรู้ เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ




     ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ตอกย้ำแนวคิดให้ SME “ได้มากกว่า” ด้วยการเสริมองค์ความรู้ เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ล่าสุดจัดงาน “TMB SME Industry Forum 2019 เสริมศักยภาพรอบด้าน ให้  SME ไทย ก้าวไกลได้มากกว่า” งานสัมมนาเจาะลึกความรู้เพื่อผู้ประกอบการ SME 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง, อุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมผู้ค้าส่ง และอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ พร้อมดึง 10 นักธุรกิจและกูรู SME ชื่อดัง ร่วมถ่ายทอดเทคนิค ประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง สร้างความแตกต่าง และต่อยอดธุรกิจได้ โดยมีผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมงานกว่า 400 คน
 

     พร้อมพงษ์  พัฒนธีระเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์และ Portfolio ธุรกิจ SME ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า “ในปัจจุบันการแข่งขันในตลาดที่เข้มข้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและดิจิทัลดิสรัปชัน เป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคของ SME ที่จะเติบโตในธุรกิจ ซึ่งทีเอ็มบีมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาและทำความเข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ SME ในทุกๆ แง่มุม เพื่อนำเสนอโซลูชันและบริการที่ตอบโจทย์ Pain Point และช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเติบโตและต่อยอดได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการจัดงาน TMB SME Industry Forum 2019 เสริมศักยภาพรอบด้าน ให้เอสเอ็มอีไทย ก้าวไกลได้มากกว่า” ครั้งนี้เป็นการออกแบบเนื้อหาแบบเจาะลึกเพื่อผู้ประกอบการ SME 4 อุตสาหกรรม ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย คือ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง, อุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมผู้ค้าส่ง และอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ”
 

     โดยข้อมูลจากงานสัมมนารอบอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง พบว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจำนวนกว่า 80,000 รายที่อยู่ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.8 แสนล้านบาท ซึ่ง นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยที่จะขับเคลื่อนด้วยแรงหนุนจากภาครัฐอีกตลอด 4 ปีข้างหน้า และงานการก่อสร้างภาคเอกชน (นิคมอุตสาหกรรม โรงงาน และที่อยู่อาศัย) จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งในช่วงปี 2564 หลังจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและในโครงการอีอีซีเพิ่มมากขึ้น พรเทพ เหลือทรัพย์สุข ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงกระบวนการทำงานและเพิ่มผลผลิต ได้แนะเคล็ดลับการสร้างประสิทธิภาพจากภายในองค์กร และ 8 เทคนิคการกำจัดความสูญเปล่าในองค์กร ที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มยอดขายก็มีกำไรได้ และปิดท้ายด้วยกรณีศึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนของกระเบื้องดูราเกรซจาก สมบูรณ์ อุรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)
 

     ต่อด้วยข้อมูลสำคัญจากอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ถึง 80,000 ราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.8 แสนล้านบาท โดย พจนา พะเนียงเวทย์ ผู้ช่วยกรรมการรองผู้อำนวยการ/ กรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงภาพรวมของธุรกิจอาหารและเทรนด์ธุรกิจอาหารของโลกที่เอสเอ็มอีไทยจะต้องจับตามอง เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ต่อยอดขยายธุรกิจอย่างแตกต่างต่อไป ด้าน ทัดณัฐ ฉันทธรรม์ เจ้าของแบรนด์แมลงอบกรอบ “ไฮโซ” ได้เปิดเผยเรื่องราวขอการสร้างแบรนด์และส่งออกอาหารไทยให้ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ
 

     ขณะที่อุตสาหกรรมค้าส่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ในอุตสาหกรรมถึง 1.3 ล้านราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง 2 ล้านล้านบาท โดยได้รับเกียรติจาก นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการ บริษัท ตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ จำกัด เจ้าของธุรกิจค้าส่งร้านดังแห่งจังหวัดอุดรธานี มาเผยประสบการณ์การบริหารงานด้วยกลยุทธ์สร้างความเข้าใจของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จนครองใจร้านค้าในจังหวัดอุดรธานี สร้างยอดขายได้ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท พร้อมเสริมความรู้ด้านบัญชี และภาษี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจต้องทราบ นายถนอม เกตุเอม กูรูด้านภาษีและบล็อกเกอร์ด้านการเงิน  พร้อมตอบทุกคำถาม ทั้งเรื่องโครงสร้างรายรับ รายจ่าย กำไร และภาษีมูลค่าเพิ่ม
 

       นอกจากนี้ จบงานด้วยความรู้ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ (ETDA) พบว่ามูลค่าของอี-คอมเมิร์ซในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 680,000 ล้านบาท ภายในปี 2562 นี้ คิดเป็นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการค้าปลีกของประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ขายของบนอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม และโซเซียล คอมเมิร์ซ ทั้ง Facebook LINE และ Instagram รวมกว่า 500,000 คน โดยณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล ได้ให้แนวทางเกี่ยวกับเทรนด์โลกออนไลน์ และการตลาดออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่า และโอกาสทางการตลาดนำไปสู่การสร้างยอดขายได้อย่างยั่งยืน ต่อด้วยขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด กับเนื้อหาเข้มข้นเกี่ยวกับการตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีหลายรูปแบบซึ่งเหล่าร้านค้าออนไลน์ใช้กันอย่างกว้างขวาง พร้อมกลยุทธ์ “CARE: Current ถูกที่ถูกเวลา, Authentic จริง, Relevant โดนใจลูกค้า และ Empowering ให้พลังกับลูกค้า ด้านบุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ เจ้าของแบรนด์ 31Thanwa และ Youngfolks กรณีศึกษาการพลิกโฉมธุรกิจ OEM เครื่องหนังของครอบครัว ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมใช้เทคนิค Storytelling เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์จนประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์
 
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS