ซีพีมุ่งสู่เส้นทางความยั่งยืน

นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมการประชุมด้านความยั่งยืนบนเวทีระดับโลก “Responsible Business Forum” ซึ่ง Global Initiatives องค์กรความยั่งยืนระหว่างประเทศ และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ..




     นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมการประชุมด้านความยั่งยืนบนเวทีระดับโลก “Responsible Business Forum” ซึ่ง Global Initiatives องค์กรความยั่งยืนระหว่างประเทศ และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อ Circularity 2030: Towards Zero Waste. Next Generation Leaders. Circular Economy Jobs of the Future หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อหาแนวทางความร่วมมือที่เป็นระดับโลก
 

     ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี มีนโยบายดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการแสวงหาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ซีพีเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนระดับโลกได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
 

     โดยบนเวทีความยั่งยืน “Responsible Business Forum” ครั้งนี้มีวาระสำคัญ คือ การร่วมผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยแนวคิด Zero Waste หรือ ขยะเหลือศูนย์ โดยการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้ไม่มีขยะ รวมถึงการลดวัฒนธรรมในการใช้ครั้งเดียวทิ้ง (take-make-waste) หรือเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่ผลิตภัณฑ์กลายเป็นขยะอย่างรวดเร็วมาสู่เศรษฐกิจแบบวงกลมหรือเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy
 

     ทั้งนี้ นพปฎล ยังได้ร่วมเสวนาหัวข้อ Circularity 2030: The circular economy as an accelerator for the SDGs หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน" ขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำธุรกิจของซีพีภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร นอกจากนี้ยังได้กล่าวต่อไปว่าผู้นำขององค์กรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเรื่อง Circular Economy ในองค์กรและในการสร้างความตระหนักแก่ผู้บริหารระดับสูง แต่ละองค์กรต้องจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและสนับสนุนการทำรายงาน เพื่อสร้างความโปร่งใสและประโยชน์ในการติดตามผลต่อไป
 

     ในการประชุม Responsible Business Forum ครั้งนี้ ยังมีประเด็นการหารือเกี่ยวกับประเด็น การสร้างเมืองและภารกิจเพื่อสนับสนุน Circular Economy ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นร่วมกันว่าการสร้างเมืองที่จะเอื้อให้เกิด Circular Economy จะต้องมีนโยบายแบบครอบคลุม ทั้งด้านการจัดเก็บขยะ การสาธารณสุข การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการคิดหาวิธีนำวัสดุกลับไปใช้ได้ใหม่ เป็นต้น โดยปัจจุบัน รัฐบาลของหลายประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและรัฐบาลกลางต่างตื่นตัวในการส่งเสริม Circular Economy กันมากขึ้น แต่พบว่าการส่งเสริมการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ยังประสบกับความท้าทายหลายประการ อาทิ การกำหนดสถานที่ตั้งของโรงงานคัดแยกและกำจัดขยะ การสร้างตลาดสำหรับสินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหล่านี้ การขยายขนาดของธุรกิจให้คุ้มทุน การออกกฎระเบียบที่จะเอื้อให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Circular Economy สามารถเติบโตได้
 

     ทั้งนี้ยังได้เข้าร่วมการประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง “ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศของระบบการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมรายย่อย” (Centre of Excellence for Smallholder Farming Systems Management) ที่สิงคโปร์ มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 450 ล้านคนทั่วโลก โดย 350 ล้านคนอยู่ในเอเชียและในจำนวนนี้ อยู่ในอาเซียนประมาณ 100 ล้านคน พบว่าเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่สำคัญคือการไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรกรรม (Soft Constraints) 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.เทคโนโลยี 2.วัตถุดิบในการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง 3.ระบบสาธารณูปโภคที่ดี 4.เงินทุน 5.ตลาด ในขณะเดียวกันยังเผชิญกับปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรรม (Hard Constraints) อีกด้วย อันได้แก่ 1.ดิน ในพื้นที่เกษตรมีคุณภาพต่ำ 2.สภาวะแล้งน้ำ 3.อากาศร้อน 4.พื้นที่เกษตรอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารด้วย
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเพื่อเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS