ส.อ.ท. จี้รัฐเร่งเยียวยา SMEs อ่วมค่าแรง

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคืออุตสาหกรรมและธุรกิจประเภท SMEs รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลประคับประคองอุตสาหกรรม SMEs ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ล้มหายตายจากไปเสียก่อน โดยเฉพาะในช่วงของการปรับเปลี่ยน 1-2 ปี อุตสาหกรรม SMEs เหล่านี้ รัฐบาลต้องตระหนักว่าผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนดูแลให้ความสำคัญต่อ SMEs เพราะถือเป็นการกระจายรายได้



นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคืออุตสาหกรรมและธุรกิจประเภท SMEs รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลประคับประคองอุตสาหกรรม SMEs ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ล้มหายตายจากไปเสียก่อน โดยเฉพาะในช่วงของการปรับเปลี่ยน 1-2 ปี อุตสาหกรรม SMEs เหล่านี้ รัฐบาลต้องตระหนักว่าผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนดูแลให้ความสำคัญต่อ SMEs เพราะถือเป็นการกระจายรายได้

สำหรับตัวเลขการปิดกิจการจะไม่เห็นตัวเลขที่ชัดเจน เพราะโรงงานที่ปิดกิจการไปแล้วเกือบทั้งหมดไม่ไปจดทะเบียนเลิกกิจการ ขณะที่โรงงานซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ ไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สมดุลกับต้นทุน ค่าผลประกอบการก็จะขาดทุน ไปกระทบสภาพคล่อง ผลกระทบคงไม่เห็นในระยะสั้นๆ ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาในช่วงนี้ก่อน เพื่อให้มีการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ต้องพยายามปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งด้านลดต้นทุนและการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง รอการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐ โดย ส.อ.ท.จะประสานติดตามร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด

การที่มีโรงงานบางโรงต้องปิดกิจการในช่วงนี้ พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับค่าแรงงานในช่วง 1 เม.ย.55 ซึ่งมีการปรับไปแล้ว 39.5% ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนไม่สามารถแบกรับภาระได้ จึงต้องมีการปิดกิจการไป ขณะเดียวกัน 1 ม.ค.56 จะต้องมีการปรับค่าจ้างให้เป็น 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งทำให้จะต้องมีการปรับค่าจ้างในแต่ละจังหวัดประมาณเฉลี่ยวันละ 60-78 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 74 บาท คิดเป็นค่าจ้างที่สูงขึ้นตกเดือนละ 1,900-2,000 บาท ต่อแรงงาน 1 คน ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบรุนแรง และจะเห็นผลกระทบรุนแรงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เป็นคนไทย จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ การที่ออกมาเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้มาต่อต้านนโยบายรัฐบาล แต่ต้องการให้รัฐบาลมีความเห็นใจ โดยมีมาตรการต่างๆ ในการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถปรับตัวได้

สำหรับข้อเสนอแนะมาตรการเยียวยาผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีดังนี้ 1.การจัดตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ โดยในปี 56 นายจ้างจ่าย 25% รัฐบาลจ่าย 75% ในปี 57 นายจ้างจ่าย 50% รัฐบาลจ่าย 50% ในปี 58 นายจ้างจ่าย 75% รัฐบาลจ่าย 25% และตั้งแต่ปี 59 นายจ้างจ่าย 100% 2.การลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง ลดอัตราเงินสมทบจากเดิมฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างโดยลดลง 2% เหลือฝ่ายละ 3%

3.ขอผ่อนผันการส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนคงเหลือ 0.01% เป็นเวลา 3 ปี (ปี 56-58) 4.การจัดหาคนพิการที่เข้าทำงานในสถานประกอบการขอให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหรือกระทรวงแรงงาน โดยให้สอดคล้องกับกิจการของสถานประกอบการ หากหาไม่ได้ต้องยกเว้นการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 5.การลดภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการเหมาช่วงผลิตและรับจ้างผลิต (ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ) ลดจาก 3% เหลือ 1.0%

6.ขอให้ตั้งกองทุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยอัตราผ่อนปรนและใช้หลักเกณฑ์พิเศษในการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อโดยง่าย และ 7.การค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย.ช่วยเหลือ SMEs ที่มี โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 24,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี

“โดยมาตรการของรัฐบาลจะต้องเยียวยาให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมทั้งภาคบริการต่างๆ และในภาคการเกษตร อีกทั้งมาตรการของรัฐบาลจะต้องสามารถจับต้องที่เป็นตัวเงินได้” นายธนิต กล่าว
 

NEWS & TRENDS