กสอ. คิกออฟ สร้างระบบนิเวศส่งเสริม SME ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

กสอ. คิกออฟ สร้างระบบนิเวศส่งเสริม SME รุกกิจกรรม “อธิบดีผนึกกำลังผู้นำพื้นที่” ร่วมชี้เป้าปั้นเอสเอ็มอี ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก




      กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) คิกออฟ สร้างระบบนิเวศส่งเสริม SME ปรับการทำงานเชิงรุก ริเริ่มกิจกรรม “อธิบดีผนึกกำลังผู้นำพื้นที่” รุกถกสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัด และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ระดมความคิดและรับฟังความเห็น พร้อมร่วมกันส่งเสริมและชี้กลุ่มเป้าหมาย SME ในพื้นที่ เน้นสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ประเดิมลงพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เดินหน้าส่งเสริม 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร)
 

     ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพและสร้างขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนกว่า 60,000 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้กว่า 3,000 ผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย 35 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 15,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการต่อยอดให้ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนได้รับการพัฒนาและยกระดับให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นไปอีก กสอ. จึงได้ปรับกลไกการทำงาน โดยเดินหน้าเน้นการทำงานเชิงรุก ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชน จัดประชุมหารือ ระดมความคิด และรับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ รวมถึงช่วยกันพิจารณาชี้กลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย ให้ได้รับบริการที่ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


     โดย กสอ. ได้มีการจัดประชุมหารือระดมความคิดและรับฟังความเห็นขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัด สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้นำชุมชน จาก 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร) เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่ง กสอ. จะเร่งดำเนินการขยายผลต่อยอดจากการประชุมในครั้งนี้ พร้อมทั้งให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ จัดการประชุมหารือให้ครบทุกภูมิภาคโดยเร็ว สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการหารือร่วมกับประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม และประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีในเร็วๆ นี้เช่นกัน


     ณัฐพล กล่าวต่อว่า การจัดประชุมหารือระดมความคิดและรับฟังความเห็นในแต่ละพื้นที่นั้น กสอ. จะเชิญผู้นำพื้นที่ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัด ผู้ประกอบการในพื้นที่ และผู้นำชุมชนในทุกระดับ มาร่วมด้วยช่วยกันชี้กลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย เพื่อให้ได้รับบริการตรงความต้องการ ตามเป้าหมายของแต่ละโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้ง ยังจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ กสอ. สามารถส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการได้อย่างตรงความต้องการ นอกจากนี้ กสอ. ยังจะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้จากพื้นที่ไปดำเนินการจัดทำมาตรการโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในปีต่อๆ ไป ได้ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


     ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการประชุมหารือครั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่มีข้อเสนอแนะให้ กสอ. เน้นการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME  และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูงและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ โดยให้ภาคเอกชนสามารถใช้พื้นที่สำหรับงานวิจัยต่างๆ และร่วมกันต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการฝึกงานด้วย ขณะเดียวกัน อยากให้มีการส่งเสริมและต่อยอดผลงานของนักศึกษาที่ชนะการประกวดจากโครงการต่างๆ ของ กสอ. ให้สามารถพัฒนามาสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง การส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนเข้าถึงแพลตฟอร์มการทำตลาดออนไลน์และระบบ


     โลจิสติกส์ การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ของวิสาหกิจชุมชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น ตลอดจนการหาแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเสนอให้มีการเพิ่มข้อจำกัด และคุณสมบัติในการนำเงินทุนไปใช้ในการประกอบธุรกิจให้กว้างขึ้นและการปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติการกู้เงินให้มีความรวดเร็ว


     “เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเซอร์วิส กสอ. จึงมีนโยบายให้ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนทุกรายที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ รวมทั้ง ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมงานกับ กสอ. ลงทะเบียนเป็นสมาชิกด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ i-Industry ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และตรงประเด็นยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการยกระดับการทำงานของ กสอ. และเป็นการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการที่ตรงจุด เกิดการสร้างมูลค่าและการผลักดัน รวมถึงเป็นการเร่งกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชุมชนทั่วประเทศไทยอย่างแท้จริง”
ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS