​เครือซีพี ขับเคลื่อนโครงการ “We Grow...ปลูกเพื่อความยั่งยืน”

เครือซีพีรวมพลังทุกกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนโครงการ “We Grow...ปลูกเพื่อความยั่งยืน” รณรงค์ให้ทุกหน่วยงานในเครือฯ ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่เครือฯ ทั่วประเทศ


 

      องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดย ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการ อบก. และเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการปลูกไม้ยืนต้น เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนปลูกต้นไม้ยืนต้นและกิจกรรมชดเชยคาร์บอน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินโครงการ We Grow...ปลูกเพื่อความยั่งยืน” รณรงค์ให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ร่วมกันปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันสนับสนุนให้ชุมชนร่วมปลูกป่าอย่างยั่งยืน โดยมีผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือฯ ร่วมในพิธีฯ เพื่อแสดงพลังในการมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral

 
     นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ทำไมต้องปลูก เพื่อโลกยั่งยืน” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และพัชรี คงตระกูลเทียน  ประธานคณะทำงานโครงการปลูกไม้ยืนต้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ และยังมีการมอบทุนแก่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดการประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการโครงการ “We Grow...ปลูกเพื่อความยั่งยืน” สัมฤทธิ์ผลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมบันทึกข้อมูลการปลูกต้นไม้ในโครงการผ่านแอพพลิเคชั่น We Grow
 




     ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมาก อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้น ทั้งนี้ประเทศไทยมีพันธะสัญญาในการลดก๊าซเรือนกระจกตามเจตจำนงที่แสดงต่ออนุสัญญา UNFCCC ในการลดก๊าซเรือนกระจก  20 - 25% ภายในปี 2573 และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนต้องร่วมมือกัน และในความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ในครั้งนี้มีความสำคัญเนื่องจากเครือซีพีเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ การขับเคลื่อนของเครือซีพีจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะผลักดันในภาคธุรกิจเอกชนสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าและยั่งยืนของทุกคนบนโลกของเรา





     นพปฎล เดชอุดม
ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของประชาคมโลก ซึ่งเครือซีพีในฐานะภาคธุรกิจเอกชนที่ให้ความสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนเครือฯ เป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือการประกาศขับเคลื่อนโครงการ “We Grow....ปลูกเพื่อความยั่งยืน” รณรงค์ให้มีการปลูกไม้ยืนต้นในหน่วยงาน และส่งเสริมสนับสนุนให้พันธมิตรและภาคีเครือข่ายชุมชนต่างๆ ร่วมกันปลูกเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยและโลก โดยมีการจัดทำกลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ได้กับ


     กลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือฯ ที่อยู่ทั่วโลก และจะมีการแบ่งปันแนวทางการพัฒนารูปแบบการดำเนินโครงการ เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้กลุ่มธุรกิจในเครือฯ นำไปขยายผลซึ่งจะทำให้เครือฯ และบริษัทในเครือฯ เป็นองค์กร Carbon Neutral ได้สำเร็จตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯ





     นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้นำแอปพลิเคชั่น We Grow ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยกลุ่มทรู บริษัทในเครือฯ มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการสร้างความร่วมมือในการปลูกต้นไม้ในโครงการ  We Grow...ปลูกเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้สามารถบันทึกข้อมูลการปลูกต้นไม้  สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เรื่องปลูกต้นไม้ และช่วยคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงจากการปลูกต้นไม้


     ทั้งนี้ เครือซีพียังได้สนับสนุนงบประมาณแก่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อใช้ในการศึกษาหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดการประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานการคำนวณมูลค่าของเนื้อไม้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศไทย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup
 

NEWS & TRENDS