พณ.ยันอีกเสียงธุรกิจเจ๊งเองไม่เกี่ยวค่าแรง 300 บาท

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าการเลิกกิจการในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค. ที่มีการเลิกกิจการทั้งสิ้น 3,338 ราย โดยมีสัดส่วนสูงถึง 58% นั้น มาจากปัญหาการขาดทุนสะสม โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านการก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการนันทนาการ บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และ 37% เป็นการปิดกิจการจากการจัดตั้งบริษัทเพื่อเข้ามารับสัมปทานภาครัฐ

 


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าการเลิกกิจการในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค. ที่มีการเลิกกิจการทั้งสิ้น 3,338 ราย โดยมีสัดส่วนสูงถึง 58% นั้น มาจากปัญหาการขาดทุนสะสม โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านการก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการนันทนาการ บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และ 37% เป็นการปิดกิจการจากการจัดตั้งบริษัทเพื่อเข้ามารับสัมปทานภาครัฐ

โดยในจำนวนนี้มีบางรายที่ไม่ได้รับสัมปทานและไม่ได้ดำเนินธุรกิจต่อ ขณะที่ 5% เกิดจากปัญหาการบริหารงานภายในองค์กร ขณะที่ธุรกิจขายส่งเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมีสัดส่วนที่เลิกกิจการเพียงไม่ถึง 100 ราย ดังนั้น ในการเลิกกิจการช่วงปลายปีของทุกปีผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะดำเนินการปิดกิจการเพื่อไม่ต้องจัดทำงบการเงิน เพื่อรายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปีต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องจากมาตรการที่รัฐบาลประกาศเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ตามที่หลายฝ่ายออกมาระบุ ว่าแนวทางดังกล่าวทำให้กิจการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ

“มาตรการดังกล่าว รัฐบาลได้เริ่มทดลองใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยได้นำร่องใน 7 จังหวัดมาแล้ว ซึ่งกิจการต่างๆ ไม่ประสบปัญหาสภาพคล่อง และได้ประกาศใช้นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56 ซึ่งเพิ่งเริ่มมีผลไม่ถึง 10 วัน จึงเห็นว่าการปิดกิจการลงของภาคเอสเอ็มอีไม่ได้มีผลจากนโยบายดังกล่าว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไปจัดทำฐานข้อมูลตรวจสอบทางบัญชีย้อนหลังของกิจการที่เลิกและปิดกิจการไป ว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อนำข้อมูลชี้แจงต่อสาธารณชนได้รับทราบ” นายณัฐวุฒิ กล่าว

สำหรับการจดทะเบียนธุรกิจในเดือน ธ.ค.55 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 4,540 ราย เพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวนทั้งสิ้น 16,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 5,567 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 49% ส่งผลให้สถิติจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รวมทั้งปี 55 มีจำนวน 63,845 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 8,446 ราย หรือเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 54 ซึ่งเกินกว่า 60,000 ราย เป็นปีแรกและเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การจัดตั้งหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และมีมูลค่าจดทะเบียนจัดตั้งใหม่รวมทั้งสิ้น 337,981 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี

           ส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือน ธ.ค.55 มีจำนวน 3,838 ราย เพิ่มขึ้น 3% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 129 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบกับเดือน พ.ย.55 มีการจดทะเบียนเลิกเพิ่มขึ้นจำนวน 2,078 ราย หรือเพิ่มขึ้น 118% ส่งผลให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศทั้งปี 55 รวมทั้งสิ้น 16,936 ราย เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

NEWS & TRENDS