ดีไอทีพี ชี้ 5 โอกาสทองของสินค้าส่งออกไทยในวิกฤตโควิด–19

ดีไอทีพี ชี้ 5 โอกาสทองของสินค้าส่งออกไทยในวิกฤตโควิด–19 พร้อมเปิดแผนช่วยผู้ประกอบการฝ่าคลื่นยักษ์ด้วยช่องทางตลาดใหม่ – ออนไลน์ หวังเพิ่มโอกาสได้ไปต่อ





     กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะ 5 โอกาสทองของผู้ประกอบการส่งออกไทย ในสถานการณ์การระบาดของวิกฤตโควิด – 19 เชื่อมั่นไทยยังมีสินค้า 5 ประเภทที่มีโอกาสในการส่งออกหรือกระจายสินค้าไปสู่ตลาดและผู้บริโภคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป สินค้าด้านเวชภัณฑ์และการแพทย์ สินค้าและบริการด้านความบันเทิง สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน และกลุ่มสินค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์


    นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแนวทางการรับมือด้วยแนวคิด “ตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส” ดึงออนไลน์เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้วิกฤตดังกล่าวให้เป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และสามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากเดิม พร้อมเตรียมจัดกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ได้แก่ การจับคู่ธุรกิจ การจัดงานแสดงสินค้า และการพัฒนาแพลตฟอร์ม “NEA E-Learning Universe” โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA


     สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด – 19 กรมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ทำการศึกษาปัจจัยและแนวโน้มเรื่องการส่งออกของสินค้าไทย โดยพบว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีความรุนแรงและส่งผลกระทบกับกิจกรรมการส่งออกในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาการส่งออกก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่าในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ประเทศไทยมีสินค้า 5 ประเภทที่มีโอกาสในการส่งออกหรือกระจายสินค้าไปสู่ตลาดและผู้บริโภคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ได้แก่


•              สินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคในทุกประเทศ โดยในช่วงนี้สินค้าที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ อาหารแห้ง ข้าว อาหารกระป๋อง ซึ่งประเทศไทยมีกำลังในการผลิตเพื่อบริโภคและการจำหน่ายที่เพียงพอกับความต้องการทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในระยะแรกของการระบาดเชื้อ      โควิด-19 สินค้าดังกล่าวถือว่ามีปัญหาเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันถือว่าคลี่คลายได้ดี และคาดว่าจะค่อย ๆ ขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ


•              สินค้าด้านเวชภัณฑ์และการแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการเกือบเทียบเท่ากับกลุ่มอาหาร โดยอุปทานความต้องการมีมากทั้งในและต่างประเทศ อันเนื่องมาจากการดูแลสุขภาพและการป้องกันตัวของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น  ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าความต้องการจะยังคงมีมากอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมนำไปปรับแผนการผลิตที่มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อไป


•              สินค้าและบริการด้านความบันเทิง และอุตสาหกรรมด้านเอนเตอร์เทนเมนท์ เนื่องจากการอยู่บ้านของประชาชนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขานรับนโยบาย Social Distancing รวมทั้งการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home โดยธุรกิจบริการที่มีโอกาสเติบโตสูงได้แก่ ดิจิทัลคอนเทนท์ เกมส์ และภาพยนตร์ รวมถึงอุปกรณ์ที่ช่วยในเรื่องการออกกำลังกายในบ้าน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคได้หันมาใช้จ่ายในสินค้าและบริการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องการผ่อนคลายความเครียดจากการอยู่บ้านเป็นเวลานานๆ


•              สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันพบว่า เริ่มมีสถานที่ในการจัดจำหน่ายที่น้อยลง จึงทำให้โอกาสดังกล่าวขยายไปสู่ช่องทางการซื้อขายออนไลน์และผู้บริโภคก็หันเข้าสู่ช่องทางดังกล่าวเช่นเดียวกัน


•              กลุ่มสินค้าในอุตสาหกรรมขั้นกลาง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใยผลิตสิ่งทอ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ



     สมเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้เตรียมมาตรการรองรับและสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการส่งออก ไว้หลายด้านประกอบด้วย 1.ลดการพึ่งพาตลาดหลักผลักดันการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้น  2.เร่งแก้ไขปัญหาในการส่งออกจากปัจจัยต่างๆของประเทศเป้าหมายส่งออกสินค้าและบริการ และ 3. เพิ่มศักยภาพการทำการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการทำการค้าในเศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงเร่งหาแนวทางรับมือต่อไป เพื่อให้ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทย สามารถฟื้นฟูกลับมาได้อย่างรวดเร็วและไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นเวลานานหลังจากวิกฤตดังกล่าวได้ผ่านไป


     นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางที่จะนำพาผู้ประกอบการไปสู่ช่องทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกรมฯ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ได้วางกิจกรรมส่งเสริมไว้เพิ่มเติมอีก 3 รูปแบบ ได้แก่


     1. การจัดกิจกรรม Business Matching ออนไลน์ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยกิจกรรมการเจรจาทางการค้า การนำเสนอสินค้า และการหาคู่ค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะสามารถจับคู่ธุรกิจการค้าได้ทั่วโลก ด้วยการย่อโลกธุรกิจ การเจรจาทางการค้าให้ง่ายและใกล้กันมากขึ้น


     2. การจัดงานแสดงสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์  โดยแผนการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และเปิดกว้างให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงการจัดงานแสดงสินค้าได้ในรูปแบบ  Multimedia Online Virtual Exhibition (MOVE) หรือ Virtual Trade Show ด้วยการจัดแสดงงานและเข้าชมงานแสดงสินค้าได้ในรูปแบบเสมือนจริง ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าชมงานได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้นจากเดิม และสามารถเข้าชมได้จากทุกมุมของโลก อีกด้วย


     3. การวางแผนและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เรียกว่า “NEA E-Learning Universe” เพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงสามารถได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 แพลตฟอร์มใหญ่ ได้แก่ 1) ระบบ NEA E-Learning ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ 2)ระบบ Live & Webinar Class ซึ่งเป็นการปรับโฉมลักษณะการดำเนินโครงการฝึกอบรมและสัมมนาต่างๆของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) โดยเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมจาก Offline ไปสู่ Online อย่างเต็มรูปแบบ
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

NEWS & TRENDS