พาณิชย์ปลดล็อคนิยาม SME ใหม่ ขยายโอกาสผู้สมัคร SMEs Pro-active ร่วมสู้ COVID-19

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศปรับนิยาม SME ในคุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active พร้อมยืดระยะผู้ประกอบการตามนิยามเดิมไปจนถึงกันยายน 2564 เพื่อให้ได้เร่งใช้ประโยชน์ แสวงหาช่องทางการค้าในต่างประเทศ และลดผลกระทบจาก COVID-19




     กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าปรับนิยามผู้ประกอบการ SME ในคุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active พร้อมยืดระยะผู้ประกอบการตามนิยามเดิมไปจนถึงกันยายน 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เร่งใช้ประโยชน์ แสวงหาช่องทางการค้าในต่างประเทศ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19
 

     สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโครงการ SMEs Pro-active เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (BOT) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) มีมติเห็นชอบการปรับนิยามของผู้ประกอบการ SME ตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้โครงการ SMEs Pro-active ให้สอดคล้องกับนิยามตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2562 พร้อมผ่อนผันให้ผู้ประกอบการตามนิยามเดิมสามารถใช้สิทธิ์ได้จนสิ้นสุดโครงการฯ ระยะที่ 3 (เดือนกันยายน พ.ศ. 2564) ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการในทันที ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้งานแสดงสินค้าต่างๆ เลื่อนหรือยกเลิกการจัดงานในช่วงนี้


     โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Pro-active ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3 เป็นโครงการที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง ไม่เกิน 6 ครั้ง และเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ (Business Matching/Pitching) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง ไม่เกิน 6 ครั้ง ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,482 ราย เงินสนับสนุนกิจกรรมในต่างประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 280 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการในทุกคลัสเตอร์สินค้า ทั้งอาหาร อุตสาหกรรม ไลฟ์สไตล์ และธุรกิจบริการ
 

     การปรับหลักเกณฑ์ SME ดังกล่าว สอดคล้องกับการปรับเกณฑ์จำแนกขนาดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไทย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ. 2561 จากเดิม ตามการจ้างงานและสินทรัพย์ถาวร เป็น ตามการจ้างงานและรายได้ โดยภายใต้นิยามใหม่ผู้ประกอบการ SME แบ่งออกเป็น กิจการภาคการผลิต มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน และมีรายได้ต่อปี ไม่เกิน 500 ล้านบาท ส่วนกิจการภาคการค้า (ค้าส่งและค้าปลีก) รวมถึงภาคบริการ มีการจ้างงานไม่เกิน 100 คน และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 300 ล้านบาท


     “กรมเชื่อมั่นว่าโครงการ SMEs Pro-active จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME ทั้งตามนิยามเดิมและนิยามใหม่กว่า 1,482 ราย สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง เห็นได้จากที่สินค้าไทยที่มีโอกาสและความต้องการอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าว สินค้าอาหารสำเร็จรูปกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง เป็นต้น สินค้าทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เสื้อคลุมทางการแพทย์ หรือ สินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น กระดาษชำระ บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหารแบบกลับบ้าน น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เป็นต้น” สมเด็จ กล่าว
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS