วิศวฯ ธรรมศาสตร์ เปิดตัวอย่างเทคโนโลยี IoT ต้นทุนต่ำหนุนผู้ประกอบการ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ผนึก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดึง Internet of Things (IoT) เทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ช่วยเอสเอ็มอีปรับกระบวนการทำงานภาคการผลิต




     คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ผนึก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดึง Internet of Things (IoT) เทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ช่วยเอสเอ็มอีปรับกระบวนการทำงานภาคการผลิต ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ หนุนผู้ประกอบมีรายได้มั่นคง ภายใต้โครงการ “การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในภาคอุตสาหกรรม SMEs” ผ่านเทคโนโลยี IoT อาทิ ระบบเฝ้าตรวจแรงงานอัจฉริยะ ระบบเฝ้าตรวจเครื่องจักรอัจฉริยะ  ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เป็นมากกว่าวิศวกร”
 
 
     ผศ. ดร. ศุภกิจ พฤกษอรุณ อาจารย์ประจำภาควิชาไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดเผยว่า TSE ได้ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดย กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม เปิดโครงการ “การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในภาคอุตสาหกรรม SMEs” การให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการ ผ่านการเลือกใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ โดยมุ่งยกระดับศักยภาพกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้มีความมั่นคงทางรายได้ และพร้อมขับเคลื่อนมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยอย่างเข้มแข็ง อันตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เป็นมากกว่าวิศวกร” ที่มิได้โฟกัสเพียงการพัฒนาวิศวกรรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งถ่ายทอดและเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เข้ากับทุกบริบทของประเทศไทย
 
 
      โดยที่ผ่านมา TSE ได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประยุกต์เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในภาคอุตสาหกรรม SMEs อย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงพื้นที่สำรวจกระบวนการทำงานภายในโรงงานของผู้ประกอบการ พร้อมให้คำปรึกษาในการปรับปรุงกระบวนการทำงานของแรงงานได้อย่างตรงจุด ผ่านการพัฒนาระบบเฝ้าตรวจแรงงานอัจฉริยะ ระบบเฝ้าตรวจเครื่องจักรอัจฉริยะ ปรับใช้ในกระบวนการผลิต อาทิ ธุรกิจฟาร์มไข่ไก่ เดิมที่ต้องสูญเสียพนักงาน ในการนับไข่และติดตามสุขภาพแม่ไก่ในโรงเรือน จำนวน 6-7 คน ก็สามารถไปทำงานในส่วนอื่น ๆ ได้ ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องใช้เมลามีน เดิมที่มีข้อจำกัดด้านทักษะการปฏิบัติงานและมาตรฐานเวลาในการทำงาน ก็สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีมาตรฐานเดียวกัน
 
 
     ทั้งนี้ IoT ถือเป็นเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้อย่างสะดวก เพียงมี ระบบตรวจจับ (IoT board) ที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ติดตามการทำงาน และนับจำนวนชิ้นงาน/นับรอบการผลิต เช่น ไข่ไก่ แผ่นคอนกรีต พร้อมประมวลผลเพื่อช่วยให้การนับจำนวนแม่นยำยิ่งขึ้น ระบบแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน การส่งข้อความแจ้งเตือน อาทิ การทำงานของอุปกรณ์ การเริ่มกะการทำงาน ผลผลิตสินค้าในแต่ละกะการทำงาน พร้อมแสดงผลผ่านระบบ Line Notify บนสมาร์ทโฟนของผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลาของผู้ประกอบการในการควบคุม ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
 
 
     อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรม นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) กลับเผชิญกับข้อจำกัดจำนวนมาก อาทิ การสูญเสียโอกาสทางรายได้ อันเนื่องมาจากความชำนาญในการผลิตของแรงงาน การมีข้อมูลเชิงสถิติการที่คลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดจากการขาดความแม่นยำในการนับจำนวนของบุคคล ดังนั้น การมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ อย่าง IoT เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงทุกสิ่งสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีผลผลิตที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน สามารถพัฒนากระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนพัฒนาทักษะเเละฝีมือเเรงงานอย่างเป็นระบบ และเกิดกระบวนการทำงานใหม่ที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ผู้ศาสตราจารย์ ดร.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย
 
               
     ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวเสริมว่า TSE มุ่งส่งเสริมและผลักดันบุคลากรนักวิจัย ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเชิงลึกในสาขาต่าง ๆ รวมถึงนักศึกษา เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ซึ่งครอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมในระดับเอสเอ็มอี ภายใต้กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning : PBL) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนการทำงานในเชิงบวก และการประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นักศึกษายังได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียน จากการลงมือปฏิบัติจริง อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการผลักดันบุคลากรนักวิจัยและนักศึกษาแล้ว TSE ยังเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ผ่านการผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่าง “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” เพื่อร่วมยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ให้พร้อมก้าวสู่ “อุตสาหกรรมยุคใหม่” อย่างยั่งยืน
 
               
     สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอคำแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โทรศัพท์ 02 202 4562 เว็บไซต์ https://ddi.dip.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โทรศัพท์ 094-664-7146 ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT และ www.engr.tu.ac.th
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS