สสว. ผนึก SME D Bank โชว์ความคืบหน้าอนุมัติสินเชื่อสนับสนุน SME รายย่อย

สสว. และ SME D Bank โชว์ความคืบหน้าการอนุมัติสินเชื่อผ่านโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย พร้อมเร่งพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้มากขึ้น





      สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank โชว์ความคืบหน้าการอนุมัติสินเชื่อผ่านโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยให้กับผู้ประกอบการ พร้อมเตือนให้ผู้ประกอบการเฝ้าระวังมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของผู้อนุมัติสินเชื่อ เว็บไซต์ข่าวปลอมที่มีข้อความด้านการขอสินเชื่อที่ดึงดูดใจ การอ้างเป็นตัวแทนในการนำพาเข้าถึงสินเชื่อโดยมีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม รวมถึงกลโกงในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์


      “วีระพงศ์ มาลัย” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า ตามที่ สสว.ได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ซึ่งได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 นั้น ล่าสุดโครงการดังกล่าวมีผู้ประกอบการยื่นสมัครสินเชื่อจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนอยู่ในสถานะการพิจารณาคำขอ และอยู่ในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อกว่า 5,000 ราย เชื่อว่าจะช่วยให้ SME มีสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนที่ดีมากขึ้น ส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานได้ในลำดับต่อไป


      สำหรับโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย เป็นโครงการสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่ม SME ขนาดเล็กที่ต้องการมีแหล่งเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูและขยายธุรกิจ และลดปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในการนำไปพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อลดปัญหาการปิดกิจการและการจ้างงาน และเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ทั้งนี้ รายละเอียดของวงเงินสินเชื่อนั้น แบ่งเป็นบุคคลธรรมดาวงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท และนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มวงเงินกู้ไม่เกิน 3,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี สามารถผ่อนชำระสูงสุดได้ถึง 7 ปี และเวลาปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดย SME ที่ประสงค์ขอสินเชื่อต้องไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โครงการเงินทุนพลิกฟื้นฯ โครงการฟื้นฟูฯ และยังต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย


      วีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาหลายปัจจัยได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบทั้งในด้านการจ้างงาน การขยายธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ สถานการณ์เหล่านี้กระทบไปถึงภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอย่างเร่งด่วนในขณะนี้คือการผลักดันให้เข้าถึงมาตรการสนับสนุนและเยียวยา โดยเฉพาะในด้านสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ นอกเหนือจากนี้ ยังจำเป็นต้องชี้ให้เห็นถึงช่องทางการเข้าถึงหน่วยงานที่สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มยอดขาย การทำตลาด การลดโอกาสการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อเนื่องไปถึงการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจที่หยุดพักการดำเนินงานในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตและให้บริการได้อีกครั้ง


      “อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด – 19 ในระยะปัจจุบัน รวมถึงมาตรการในการสนับสนุนสินเชื่อของหน่วยงานและสถาบันการเงินต่าง ๆ  ได้เริ่มทำให้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจ SME ซึ่งเชื่อว่าจนถึงปลายปีนี้จะค่อย ๆ เห็นภาคดังกล่าวมีความสดใสเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของ สสว. ยังคงมุ่งที่จะสนับสนุน SME ทั้งในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อ องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในแต่ละรายสาขา รวมถึงกิจกรรมที่สามารถช่วยให้ SME ยังสามารถรักษาระดับการจ้างงาน ช่วยลดการปิดกิจการ หรือทำให้กิจการที่ต้องหยุดพักทั้งในภาคการผลิตและการบริการสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังจะเร่งสรรหาแนวทาง รวมถึงดึงความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้การส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นไปอย่างครอบคลุมและครบทุกมิติ”


      วีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันยังมีสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมคือมิจฉาชีพที่อาจแฝงมาในนามของผู้ให้และผู้อนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะเว็บไซต์ปลอมที่มักจะอาศัยประโยชน์จากข้อความที่ดึงดูดความสนใจให้คลิกเข้าไปชมเกี่ยวกับข้อมูลด้านการเงินที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งจะสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อ รวมถึงลูกค้าธนาคารต่างๆ พร้อมด้วยการอ้างตัวเป็นตัวแทนในการพาเข้าถึงสินเชื่อ โดยมีเงื่อนไขในการเสียค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการ ซึ่งขอย้ำว่าโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ของสสว. นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น และอีกรูปแบบคือกลโกงที่มาในคราบของคอลเซ็นเตอร์ที่ส่วนใหญ่ปลายสายมักอ้างตัวเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ การหลอกโอนเงินผิด หรืออ้างว่ามีผู้นำเอกสารไปขอวงเงินสินเชื่อ แล้วให้โอนเงินกลับมายังบัญชีของมิจฉาชีพเพื่อทำการตรวจสอบ หรือคืนเงินที่มีผู้โอนไปผิด ดังนั้น ช่วงนี้จึงอยากให้ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทางสถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐที่เชื่อถือได้เท่านั้น
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

NEWS & TRENDS