กรมพัฒน์ฯ ลงพื้นกาญจนบุรี ฟังแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนเข้มแข็ง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีตรวจเยี่ยมและรับฟังข้อเสนอแนะ แนวทางความช่วยเหลือและรูปแบบการส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมนำมาจัดทำโรดแมพแนวทางความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป





      กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีตรวจเยี่ยมและรับฟังข้อเสนอแนะความต้องการแนวทางความช่วยเหลือและรูปแบบการส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ประกอบด้วย ‘ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก’ ‘ร้านอาหาร Thai SELECT’ และ ‘OTOP Select’ พร้อมนำข้อเสนอแนะมาจัดทำโรดแมพแนวทางความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม เห็นกับตา..ผู้ประกอบการชุมชนยิ้ม..ยอดขายพุ่ง...หลังร่วมโครงการของรัฐบาล ‘คนละครึ่ง’ ‘ช้อปดีมีคืน’ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ และ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ บอก..ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้จริง พร้อมวอนภาครัฐ..เสริมพลังผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง..เพื่อให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว
              

      “ทศพล ทังสุบุตร” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการโดยตรงครั้งนี้ เพื่อทราบถึงความต้องการที่แท้จริง ทั้งด้านการให้ความช่วยเหลือต่างๆ  รวมถึงแนวทางการส่งเสริมธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง ล่าสุดได้ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีพร้อมด้วยผู้บริหารกรมฯ เพื่อตรวจเยี่ยมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการชุมชน 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (ศูนย์การค้า TMK Park) ธุรกิจร้านอาหาร (ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT) (ร้านอาหารคีรีมันตรา) และธุรกิจสินค้าชุมชน OTOP Select (กันตะเบญจรงค์) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่ม เป็นธุรกิจที่กรมฯ ให้การสนับสนุนส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง”
              

      “เบื้องต้นทั้ง 3 ธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการที่เป็นคนพื้นเพในจังหวัดกาญจนบุรีตั้งแต่กำเนิด และดำเนินธุรกิจภายในจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เข้าใจถึงความต้องการของคนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการ และความรู้ด้านต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ เพื่อขยายกิจการและสร้างธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง ทำให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ โดยได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าทำให้ช่วยลดต้นทุน/เพิ่มรายรับมากขึ้น”


       อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เช่น ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกมียอดขายลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ธุรกิจร้านอาหารต้องปิดกิจการลงชั่วคราว และธุรกิจสินค้าชุมชนยอดขายลดลงมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งทั้ง 3 ธุรกิจได้ใช้การดำเนินธุรกิจตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เน้นตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างตรงจุดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น รับคำสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลมีเดียที่ได้จัดทำขึ้น และจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าแบบเดลิเวอร์รี่ การขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ หรือ ผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้นทั้งลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่ รวมถึง มีการสร้างความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายธุรกิจกับธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มยอดขายและสนับสนุนธุรกิจระหว่างกัน”
              

      “ซึ่งหลังจากที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเริ่มบรรเทาเบาบางลง รัฐบาลได้สร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ‘คนละครึ่ง’ ‘ช้อปดีมีคืน’ ฯลฯ รวมทั้งโครงการที่มีมาก่อน เช่น ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ มียอดขายสินค้า/บริการเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเกิดการหมุนเวียน ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาจ้างงานคนในพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการทำให้ทราบว่า ในจังหวัดกาญจนบุรีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกาญจนบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้โดยสะดวก ทั้งแบบค้างคืนและไป-กลับภายใน 1 วัน โครงการต่างๆ ของรัฐบาลจึงสามารถตอบโจทย์ประชาชนและผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี โดยหลังจากโครงการของรัฐบาลเดินหน้าไปได้ระยะหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ มียอดขาย/บริการที่เพิ่มสูงขึ้น ประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาลงทุนในกิจการของตนเองเพิ่มขึ้นอีกครั้ง”
              

      “ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และต่ออายุโครงการออกไปอีก โดยเพิ่มเป็นเฟส 2 3 และ 4 จนกว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเสริมพลังให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยการจัดอบรม/สัมมนาให้ความรู้ด้านต่างๆ สนับสนุนเทคโนโลยีและดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าอย่างเป็นระบบ ร่วมกันพัฒนาช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลายเพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนอกจาก จะเป็นการให้พลังแก่ผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ (อบรม/สัมมนา) ทำให้เศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเกิดการขับเคลื่อน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีความมั่นคงและเข้มแข็งขึ้นตามไปด้วย”
              

      “อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะได้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับมาจัดทำเป็นโรดแมพแนวทางการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีการปรับหลักสูตรการอบรม/สัมมนาต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นแต่ละกลุ่มธุรกิจ และจะมีการบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน/เสริมพลังผู้ประกอบการและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS