ผลวิจัยระบุ SMEs สู้ค่าแรงไม่ไหวส่อลอยแพ 6 แสนคน

ศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์ระบุปัญหาค่าแรง 300 ทำเอสเอ็มอี 8 แสนถึง 1 ล้านรายตกที่นั่งลำบาก คาดตกงาน 6.4 แสนคน แนะรัฐใช้งบ 1.4 แสนล้านบาทตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้าง บรรเทาความเดือดร้อน

 


ศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์ระบุปัญหาค่าแรง 300 ทำเอสเอ็มอี 8 แสนถึง 1 ล้านรายตกที่นั่งลำบาก คาดตกงาน 6.4 แสนคน แนะรัฐใช้งบ 1.4 แสนล้านบาทตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้าง บรรเทาความเดือดร้อน

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใน 70 จังหวัดที่จะต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในปี 2556 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,344 ราย จาก 21 จังหวัด และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการ 50 ราย พบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 800,000 ถึง 1 ล้านรายอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และยังไม่พร้อมรับมือกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานรวมของประเทศโดยคาดว่าจะมีแรงงานตกงานถึง 640,000 คนที่ไหลไปยังภาคเกษตร และอีกจำนวนหนึ่งที่ออกไปทำงานนอกระบบ เพื่อไม่ให้ตกงาน

“แม้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 300,000 คน แต่ข้อมูลยังชี้ว่าเมื่อเทียบกันระหว่างเดือนกันยายน 2554 และ 2555 มีแรงงานไหลสู่ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 640,000 คน โดย 510,000 คน ไหลออกจากภาคอุตสาหกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร และอีก  400,000 คน ออกจากอุตสาหกรรมซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ แรงงานที่ตกงานเหล่านี้บางส่วนสามารถหางานทำในอุตสาหกรรมอื่นได้ จึงทำให้ยอดการไหลออกมีน้อยกว่าผลรวมของทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้” นายเกียรติอนันต์ กล่าว

ส่วนแนวทางการปรับตัวที่ภาคธุรกิจใช้ในปี 2556 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 86.6% เลื่อนการจ้างงานเพิ่ม 74.4% ลดงบประมาณในการลงทุนระยะยาว 65.5% ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ค่าแรง 62.3% เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และ 56.9% ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ

นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่า เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการกว่า 62% เห็นว่าการจัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการเป็นมาตรการที่ได้ผลดีที่สุด โดยการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างควรทำแบบขั้นบันได เพื่อให้เกิด Soft Landing โดยเงินชดเชยต่อคนต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 75 บาทมีระยะเวลา 3 ปี หากในปีแรกรัฐช่วยรับภาระ 75 % และ ผู้ประกอบการรับภาระ 25% จะใช้งบประมาณ 71,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2557 และ 2558 สัดส่วนเงินชดเชยจากภาครัฐสามารถลดลงมาเป็น 50% และ 25% งบประมาณที่ต้องใช้ในปี 2557 จะประมาณ 48,000 ล้านบาทและ 24,000 ล้านบาทในปี2558 รวมแล้วงบประมาณที่ต้องใช้ในช่วง 3 ปี ข้างหน้ามีจำนวนประมาณ 140,000 ล้านบาทซึ่งถือเป็นระดับที่ยอมรับได้ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาวดังนั้นรัฐบาลควรเร่งการจัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นโดยเร็ว

“รัฐบาลไม่มีเวลามาพิจารณาหลายมาตรการ ควรเลือกมาตรการที่ดีที่สุด เร่งการจัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้าง ด้วยการใช้งบประมาณ 140,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี จ่ายเป็นขั้นบันได แนวทางนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการดูแลให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามหากมาตรการนี้ไม่เกิด เอสเอ็มอีจะตายเร็วขึ้น ขณะที่เอสเอ็มอีรายใหม่ จะหันไปใช้เทคโนโลยีแทนการจ้างแรงงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการย้ายโรงงานมาอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร เกิดความไม่เท่าเทียมกันในเชิงภูมิภาค ตัวเลขการว่างงานในต่างจังหวัดจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นชัดเจนในอีก 5 ปีข้างหน้า” นายเกียรติอนันต์ กล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2556 คาดว่าจะขยายตัว 3.9-4.2% มีปัจจัยบวกในประเทศ เป็นหลักคือมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐบาลซึ่งมีผลทางจิตวิทยาทำให้ประชาชนมั่นใจว่า ยังมีกำลังซื้อต่อเนื่อง ปัจจัยลบที่ต้องระวังคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก
 

NEWS & TRENDS