สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้...เพิ่มทางเลือกผู้ประกอบการ ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนสูง

ทางการไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทยได้ออกโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) รวมถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจ หรือ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ เพิ่มทางเลือกผู้ประกอบการ ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนสูง




     ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่แม้จะทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากการกระตุ้นของภาครัฐ แต่ก็ยังเป็นเส้นทางการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอน โดยแปรผันตามความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาการของไวรัสว่ามีความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์มากน้อยเพียงใดนั้น ทำให้สถานะทางการเงินของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังอยู่ในภาวะตึงเครียดต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ธุรกิจท่องเที่ยวและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากถึง 17.7 เปอร์เซ็นต์ ต่อจีดีพี เผชิญสถานการณ์รายรับจากต่างชาติหดหายไปแล้วนานกว่า 12 เดือน แต่ก็ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดในครั้งนี้เช่นกัน
 
 
     ล่าสุด ทางการไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทยได้ออกโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) รวมถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจ หรือ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายในรูปของร่างพระราชกำหนด ที่คาดว่าจะสามารถผ่านขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตต่อมาตรการใหม่ ดังนี้
 

  • แม้มาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้ จะครอบคลุมธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด แต่หากเจาะธุรกิจโรงแรมและที่พักอันเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลักเป็นลำดับแรกๆ พบว่า ปรากฏสัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพในปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการ Debt Holiday และการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินก็ตาม โดย ณ สิ้นปี 2563 เอ็นพีแอลของพอร์ตโรงแรมและรีสอร์ทอยู่ที่ 4.30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่ 3.12 เปอร์เซ็นต์ (สัดส่วน Special Mentioned Loan ที่เพิ่มขึ้นมาก มาจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทางบัญชี) ขณะที่สินเชื่อผู้ประกอบการที่พักแรมขยายตัวเหนือ 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งช่วงสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมาและเดือนมกราคม 2564 จากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลื่อนการชำระหนี้ออกไป นอกจากนี้ คงมีการเติมสภาพคล่องบางส่วนให้กับผู้ประกอบการด้วย ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อผู้ประกอบการที่พักแรมดังกล่าว เติบโตเหนือภาพรวมของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประมาณ 5.2 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นปี 2563 และ 4.6 เปอร์เซ็นต์ ณ เดือนมกราคม 2564
 
 
  • มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูรอบใหม่...แก้จุดอ่อนหลักของ พ.ร.ก. Soft Loan เดิม ที่ออกแบบบนการคาดการณ์ว่าเหตุการณ์การระบาดของไวรัสจะจบได้เร็ว ดังนั้น จึงทำให้ระยะเวลาโครงการจำกัดอยู่ที่ 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคของวงเงินที่ผูกกับสินเชื่อคงค้างเดิมของลูกหนี้ ทำให้แม้จะมีวงเงินสินเชื่อ (แต่ไม่ได้ใช้) หรือไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินก็ไม่ได้รับสิทธิ์มาตรการ ขนาดธุรกิจที่จำกัดไว้ที่ไม่เกิน 500 ล้านบาทโดยนับรวมกลุ่มธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปจนไม่สามารถชดเชยต้นทุนและความเสี่ยงจากการปล่อยกู้กับลูกหนี้ขนาดกลางและเล็กในภาวะเศรษฐกิจหดตัว รวมถึงการค้ำประกันการชดเชยความเสียหาย ซึ่งแม้จะกำหนดไว้ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์* แต่ด้วยวิธีการคำนวณที่มุ่งตอบโจทย์การลดภาระของภาครัฐด้วยการคำนึงถึงหลักประกันตามเงื่อนไขและวิธีการคำนวณที่กำหนด จึงทำให้การชดเชยความเสียหายจริงต่อมูลหนี้รวมจะต่ำกว่านั้น
 
 
      ขณะที่ แนวทางตามมาตรการช่วยเหลือทางการเงินใหม่นี้ ได้ปรับปรุงอุปสรรคต่างๆ ดังกล่าว โดยระยะเวลาโครงการยาวขึ้นไปถึง 5 ปีในกรณีของสินเชื่อฟื้นฟู และมีกลไกการชดเชยความเสียหายด้วยการค้ำประกันของ บสย.ที่สถาบันการเงินมีความคุ้นเคยและยาวถึง 10 ปี ซึ่งน่าจะครอบคลุมระยะเวลาการฟื้นตัวของธุรกิจและเริ่ม (Restart) ธุรกิจใหม่ได้ ขยายขอบเขตลูกหนี้ที่สามารถเข้าโครงการได้โดยกำหนดแค่ขนาดไม่เกิน 500 ล้านบาท (ไม่ดูเป็นกลุ่ม) ขณะที่ วงเงินของมาตรการใหม่นี้อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่เหลือจาก Soft Loan เดิม โดยแบ่งเป็นส่วนสินเชื่อฟื้นฟูให้กับผู้ประกอบการ 2.5 แสนล้านบาท และส่วนที่เป็นการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ให้สถาบันการเงินเพื่อไปช่วยเหลือลูกค้าอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถใช้รองรับการซื้อทรัพย์ของลูกหนี้ภายใต้โครงการพักทรัพย์พักหนี้ โดยสามารถย้ายวงเงินระหว่างสองส่วนได้หากก้อนใดก้อนหนึ่งใช้หมดก่อน
 
 
ที่มา: ครม. ธปท. สมาคมธนาคารไทย และ KResearch
หมายเหตุ: * ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตาม พ.ร.ก.กับยอดหนี้รวม
 
 
     โดยสรุปแล้ว มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ที่มาควบคู่กับสินเชื่อฟื้นฟู คาดว่าจะช่วยเปิดทางเลือกให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโควิด รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดภาระของสถาบันการเงิน จากโอกาสที่คุณภาพหนี้ของลูกหนี้กลุ่มที่ประสบปัญหาดังกล่าว จะถดถอยลงจนกระทบภาระการตั้งสำรองฯ ของสถาบันการเงิน ท่ามกลางภาวะที่รายได้หลักยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
 
 
     การออกแบบมาตรการที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ หน่วยงานเอกชน สถาบันการเงิน รวมถึงตัวแทนลูกหนี้ในครั้งนี้ สะท้อนความพยายามอย่างมากของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ก้าวข้ามผ่านภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไป บนความเข้าใจสภาพธุรกิจที่แท้จริงทั้งฝั่งผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน แม้ว่ามาตรการเชิงมหภาคเหล่านี้ในทุกๆ ประเทศ จะไม่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการได้ทุกกลุ่มและทุกขนาดก็ตาม
 
 
     เนื่องจากระดับความซับซ้อนของปัญหาและเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการแต่ละรายเผชิญนั้น มีความแตกต่างกัน
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า มาตรการอาจไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ทำธุรกิจ โดยการเช่าที่ดินและไม่ได้มีกรรมสิทธิ์บนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับการที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมในกรณีของธุรกิจที่พักแรม อาทิ กลุ่มที่กู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยในรูปบุคคลธรรมดา แต่นำมาประกอบธุรกิจในรูปเกสต์เฮ้าส์ อาจต้องพิสูจน์ด้านศักยภาพการแข่งขัน ดังนั้น หลังจากนี้ ทางการอาจต้องพิจารณาแนวทางดูแลเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพิ่มเติมในอนาคต ขณะเดียวกัน คงต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการใหม่นี้เป็นระยะ เพื่อวางแนวทางจัดการ หรือปรับปรุงที่เหมาะสมในระยะต่อไป
 
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS