ดีพร้อม แนะ 6 ตัวช่วยรายย่อยด้านการเงิน พร้อมดันหลักสูตรการเงินเพื่อขอสินเชื่อ ช่วย SME

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าโครงการ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน ผ่านหลักสูตร “SMEs รอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อ กี่ทีไม่มีพลาด” โครงการเสริมความรู้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน




       กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าโครงการ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน ผ่านหลักสูตร “SMEs รอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อ กี่ทีไม่มีพลาด” โครงการเสริมความรู้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หรือ ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างความรู้ด้านการเงิน ให้มีความรู้ด้านการขอสินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้มีข้อแนะนำ 6 ข้อที่ผู้ประกอบการต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน อาทิ ความรู้ความเข้าใจ ในข้อมูลการเงินที่จำเป็น ความเข้าใจด้านกำไรและกระแสเงินสด และการตรวจสอบแผนการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ปัจจุบัน
 
 
     ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้พัฒนาหลักสูตร “SMEs รอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อกี่ทีไม่มีพลาด” หลักสูตรออนไลน์ ภายใต้โครงการ เตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีแผนงานที่ชัดเจนในการสร้างสภาพคล่องทางธุรกิจ ทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบและทราบถึงสุขภาพทางการเงินของกิจการได้ โดยเนื้อหาของหลักสูตร แบ่งออกเป็น 5 บทเรียน ประกอบด้วย ความรู้บัญชีเบื้องต้น การบริการจัดการเงิน ตัวอย่างการวิเคราะห์ธุรกิจ ภาษีธุรกิจ และการจัดการสินเชื่อ ผ่านการบรรยายให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ


     โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกเรียนได้ทุกที่และทุกเวลากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นสื่อกลางให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งจากผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน ประสบปัญหาด้านการบริหารการเงินของธุรกิจและการขอสินเชื่อเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผลมาจากการขาดทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการบัญชีธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนมีหลักฐานทางบัญชียังไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุเส้นทางเข้าออกของรายได้ จึงพลาดการพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อนำเงินทุนมาพัฒนาและต่อยอดให้กับธุรกิจของตนได้เพียงพอ
 
 
     ณัฐพล กล่าวต่อว่า  ดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานที่อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการและส่งเสริมในทุกมิติ ยังมีข้อแนะนำแนะนำ 6 ข้อที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินดังนี้
 
 
     F: Financial Intelligence : ความรู้ความเข้าใจในข้อมูลการเงินที่จำเป็น คือ ต้องมีความรู้ด้านบัญชีพื้นฐาน เพื่อให้ทราบถึงตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่อสถานะทางการเงินของธุรกิจ รวมทั้งการบันทึกบัญชีให้เป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผนรับมือ หรือเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ทันท่วงที
 
 
      I : Investment : การลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้นอกจากการลงทุนในเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนกับคน หรือ บุคลากรในองค์กร ให้มีทักษะที่สามารถทำงานได้หลายรูปแบบ
 
 
      N: New Normal Opportunity : โอกาสและความเสี่ยงในสถานการณ์ปกติใหม่ คือ ความเสี่ยงทางธุรกิจ และโอกาสทางธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ในแผนการเงิน เนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมจะเปลี่ยนไป อาจมีทั้งโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในบางประเภทของกิจการ อาทิ ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโลจิสติกส์และความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับกลุ่มธุรกิจที่อยู่นอกเหนือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ อาทิ ธุรกิจบริการ ธุรกิจแฟชั่น และธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
 
 
      S: Statement for Loan : การเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อ คือการเตรียมแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ต้องแสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่า ธุรกิจสามารถทำกำไร และมีหลักประกันทางธุรกิจที่มั่นคง พร้อมทั้งหลักฐานทางบัญชีที่แสดงถึงเส้นทางการเข้า-ออกของรายได้และรายจ่ายต่างๆ รวมทั้งแผนบริหารการเงินที่เหมาะสม
 
 
     E: Earning / Cash Flow : ความเข้าใจด้านกำไรและกระแสเงินสด คือ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจในทุกด้านให้มีความพร้อม ซึ่งกระแสเงินสดถือเป็นปัจจัยหลัก เพราะหากมีกระแสเงินสดเพียงพอ ผู้ประกอบการสามารถใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างกำไรให้กับสินค้าและบริการ แต่หากไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อให้มีเงินสดเข้าสู่บัญชีเพิ่มขึ้น แต่มีผลกำไรที่ลดลง
 
 
     R: Re-Check : การตรวจสอบแผนการเงิน เพื่อให้ทราบถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน และทราบถึงปัจจัยเสี่ยง ของแผนการเงิน รวมทั้งการวางแผนสำรองเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ อันแสดงถึงความรอบครอบและความพร้อมของผู้ประกอบการ
 
 
     “นอกจากความรู้ด้านการเงินผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องหาแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ของธุรกิจลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์อนาคตให้รอบคอบ เพื่อที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง”
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS