ส.อ.ท.บี้รัฐจ่ายชดเชยหวั่น Q2 SMEs ตายเกลื่อน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ที่มีผลวันที่ 1 ม.ค.56 นั้น ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระต่อไปได้ เนื่องจากต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น

 


นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ที่มีผลวันที่ 1 ม.ค.56 นั้น ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระต่อไปได้ เนื่องจากต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น
 
 

    ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ผลกระทบ ค่าแรง 300 บาทนั้น ซึ่งมาตรการที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐจำนวน 5 มาตรการ ยังเป็นมาตรการที่แก้ปัญหาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เช่น มาตรการทางด้านภาษี และสินเชื่อที่ออกมา ให้ประโยชน์เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยที่มาตรการภาษีจะส่งเสริมให้มีความสามารถในการกำไรได้เพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น หรือหากสามารถกู้ยืมเงินเพื่อขยายงานก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนอุปกรณ์ เป็นต้น

 

   ส.อ.ท.ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดจากการมองเห็นปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยภาครัฐอาจเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเรื่องการชดเชยส่วนต่างค่าแรง คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากแรงงาน 2.2 ล้านคน จากระบบประกันสังคม ขณะนี้กำลังรวมยอดตัวเลขกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง หรืออาจจะใช้งบประมาณดังกล่าวไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่ง ส.อ.ท.จะหารือร่วมกับคณะกรรมการ 3 สถาบันหรือ กกร.ในช่วงเดือน ก.พ.นี้ เพื่อหาข้อสรุปจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป เพราะหากล่าช้าไปถึงไตรมาสที่ 2 ก็จะทำให้ SMEs ปิดกิจการกันมากขึ้น

 

   อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นได้จัดทำโครงการ “SMEs We Care” เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถต่อสู้กับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำผ่านการพัฒนาศักยภาพและเพิ่ม ประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนต่อไปได้


ทั้งนี้แนวโน้ม SMEs ที่รับช่วงการผลิตจากโรงงาน เป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด เพราะโรงงานส่วนใหญ่ลดต้นทุนการผลิตด้วยการหันไปซื้อสินค้าวัตถุดิบจากประเทศจีนและเวียดนามที่ราคาถูก แทนการจ้างเอสเอ็มอีในประเทศผลิต เช่นกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดโบ๊เบ๊ ใบหยก และแพลตินัม ที่หันไปนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศถึง 80% ของการผลิตจำหน่าย และอีกไม่นานโรงงานอื่นๆ ในต่างจังหวัดจะหันไปนำเข้าเช่นกัน

 

 

NEWS & TRENDS