เปิดเวทีถกปัญหาเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย

เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคมจับมือธรรมศาสตร์ จุฬา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเวที ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย พบคนยากจนกว่า5ล้านคนในไทยกว่าครึ่งมาจากอาชีพเกษตรกรรมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทั้งสิทธิ โอกาส อำนาจและศักดิ์ตามมา โดยเฉพาะสิทธิในการกำหนดนโยบายถูกกำหนดจากการเมืองเป็นหลัก ไม่สามารถหลุดพ้นจากบ่วงประชานิยมไปได้ แนะ แก้ปัญหาที่ดินทำกิน หนุน ร่วมกำหนดนโยบายรัฐ ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตร สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่สำนึกรักในอาชีพ



เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคมจับมือธรรมศาสตร์ จุฬา   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ   เปิดเวที ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย พบคนยากจนกว่า5ล้านคนในไทยกว่าครึ่งมาจากอาชีพเกษตรกรรมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้   และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทั้งสิทธิ โอกาส อำนาจและศักดิ์ตามมา โดยเฉพาะสิทธิในการกำหนดนโยบายถูกกำหนดจากการเมืองเป็นหลัก  ไม่สามารถหลุดพ้นจากบ่วงประชานิยมไปได้ แนะ แก้ปัญหาที่ดินทำกิน  หนุน ร่วมกำหนดนโยบายรัฐ  ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตร  สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่สำนึกรักในอาชีพ

               อ. นนท์ นุชหมอน นักวิชาการเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet)   และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนา     “ข้าวปลา อาหาร:  เมนูความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย” โดยร่วมกับสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สถาบันวิจัยสังคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกัน มุ่งสะท้อนข้อเท็จจริงของเกษตรกร       ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีคนยากจนประมาณ 5,278,800 คน   ซึ่งกว่าครึ่งของจำนวนดังกล่าวประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม    โดยความเหลื่อมล้ำทางรายได้ดังกล่าวอาจเป็นเหตุและผล ของความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างประเภทอื่นๆในสังคมไทยซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน  คือ ความเหลื่อมล้ำในด้านของสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี

                ทั้งนี้ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ ได้แก่ สิทธิเหนือทรัพยากร เช่น ที่ดิน   แม้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยจะมีสัดส่วนการถือครองที่ดินเป็นของตนเองในสัดส่วนที่สูง (ประมาณร้อยละ 85) แต่จำนวนเกษตรกรที่ยังประสบปัญหาขาดที่ทำกิน สูญเสียที่ดิน หรือมีข้อพิพาทกับที่ดินของรัฐ ก็มีจำนวนไม่น้อยโดยปี พ.ศ. 2547   พบว่ามีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน 889,002 ราย และมีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถึง 811,279 ราย   

                ขณะที่สิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการเกษตร  ที่ผ่านมานโยบายการเกษตรถูกกำหนดโดยกลุ่มการเมืองเป็นหลัก และไม่สามารถหลุดไปจากนโยบายประชานิยมหรือนโยบายที่มีค่าเช่าทางเศรษฐกิจสูง ไปสู่นโยบายการพัฒนาเชิงคุณภาพได้ หลายนโยบายไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของเกษตรกรหรือความแตกต่างเชิงพื้นที่ หรือความสอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ เช่น ต้องการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แต่ยังนำเข้าสารเคมีจำนวนมาก เป็นต้น  หรือบางสาขาได้รับผลกระทบจากการเจรจาเปิดการค้าเสรี

นอกจากนี้  ยังมีความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาส ของเกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆจากภาครัฐ  ไม่ว่าจะเป็น บริการขั้นพื้นฐานในส่วนของระบบชลประทาน ระบบขนส่ง  บริการข้อมูลความรู้การวิจัยและพัฒนาที่มีแนวโน้มไปในทางเกษตรเชิงพาณิชย์ซึ่งเหมาะกับเกษตรกรขนาดกลางขึ้นไปมากกว่า           หรือแม้แต่ระบบประกันพืชผลของเกษตรกรที่ยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทุกจังหวัดหรือครอบคลุมผลผลิตทางการเกษตรทุกประเภท 

               ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ  เกษตรกรรายย่อยมักเป็นฝ่ายที่ต้องเสียเปรียบมาโดยตลอดไม่มีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มอื่นๆและไม่มีอำนาจในการแข่งขันทางการค้า    อาทิ  โครงการรับจำนำข้าวที่ชาวนา

ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลประโยชน์จะเป็นชาวนาขนาดกลางและขนาดใหญ่  ส่วนชาวนาที่ยากจนจริงๆยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงนโยบาย

                ความเหลื่อมล้ำในด้านศักดิ์ศรี  ปัจจุบันมีค่านิยมที่ลูกหลานเกษตรกรซึ่งได้รับการศึกษาสูงขึ้นไม่อยากประกอบอาชีพเกษตรกร  หรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเองที่ไม่อยากให้ลูกหลานทำการเกษตรเช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่า อาชีพนี้ต้องใช้แรงงานหนัก รายได้น้อย มีหนี้สินมาก ขาดอำนาจต่อรอง และถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย

                อย่างไรก็ดี  มีข้อเสนอให้เพิ่มทางเลือกในการดำรงชีวิตให้กับเกษตรกร ทั้งในด้านสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี   โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินของเกษตรกร  การเพิ่มบทบาทของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการเกษตรในรายสาขาหรือรายพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเกษตรอย่างทั่วถึงมากขึ้น   ปรับปรุงกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้า   การเพิ่มพันธกิจของหน่วยงานภาครัฐในการพิทักษ์คุ้มครองและรักษาความเป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อย การส่งเสริมรูปแบบพันธะสัญญาที่เน้นความเป็นหุ้นส่วนมากขึ้น   

                นอกจากนี้  ควรให้การส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เกิดความรู้สึกถึงความมั่นคง และความเป็นผู้ประกอบการในอาชีพ  ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็มีโอกาสการทำกำไรที่ดี มีโอกาสเติบโตและขยายกิจการได้ มีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา

NEWS & TRENDS