สสว.ผนึกISMED ช่วยเอสเอ็มอีไทยบุกนอก

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ดันผู้ประกอบการค้าขายต่างประเทศ




       สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ดันผู้ประกอบการค้าขายต่างประเทศ เตรียมพร้อมธุรกิจกลับสู่ปกติช่วงปลายปีนี้


       แม้ในช่วงนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะยังคงเผชิญปัญหาของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด แต่การทยอยฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศ สามารถทยอยเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าหลังจากหยุดชะงักกันมานานนับปี ในการนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีขนาดธุรกิจไม่เกิน 200 ล้านบาท ได้เปิดตลาดเข้าถึงประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพในการสั่งซื้อสินค้าจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้าในกลุ่มแฟชั่นและความงาม


      ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่คนไทย อาจไม่คุ้นเคยเท่าประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เพราะไม่มีพรมแดนอยู่ใกล้ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ถูกเลือกให้เป็นตลาดที่น่าทำธุรกิจ สำหรับสินค้าที่มีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในเอเชีย ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพละความงามที่มีชื่อเสียงจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดภายในประเทศ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์์ สุขภาพและความงาม เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้จากรายงานจากการวิจัยของบริษัทเอกชน พบว่า ยอดขายสินค้าในไตรมาส 3 ของปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 สินค้าในกลุ่ม personal care มีการเติบโตของมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น สูงถึงร้อยละ 9.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการปิดประเทศ (lockdown) ความต้องการในอุตสาหกรรมนี้ยิ่งมีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะคลีนิคดูแลผิวพรรณ ร้านเสริมสวย และสปา ต่างก็ถูกสั่งปิด หรืองดให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว คนฟิลิปปินส์จึงต้องหันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น (เพราะไปใช้บริการที่นอกบ้านไม่ได้) สถานการณ์นี้ ได้ทำให้ผู้คนต่างก็หันมาซื้อสินค้าในกลุ่มสุขภาพและผิวพรรณผ่านช่องทางออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น


        จากผลการวิจัย พบว่าปัจจุบันตลาดของสินค้าเกี่ยวกับความงาม (Beauty) และสุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal care) ถูกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์จะโตขึ้น มากถึงร้อยละ 6 ในปี 2024 (หรือ ปี พ.ศ.2567) นอกจากนี้ ในงานวิจัยของ Statista พบว่า ตลาดสินค้า beauty และ personal care จะมีมูลค่าสูงถึง 5,755 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 172,650 ล้านบาท ในปี 2021 นี้ และเฉพาะตลาด personal care เพียงอย่างเดียว ก็มีมูลค่าสูงถึง 2,670 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 80,100 ล้านบาท)


         นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด และผู้คนต่างเก็บตัวอยู่ในบ้าน ได้ปลุกให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม ผลิตภัณฑ์ที่สร้างเสริมความสุข รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในยุคโควิด อย่าง แอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เติบโต รุ่งโรจน์ตามไปด้วย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด นอกจากจะส่งผลกับธุรกิจทั้งในด้านการผลิตและการบริหารจัดการแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะผู้คนต่างหวาดกลัวการเจ็บป่วยหรือ ติดเชื้อ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ก็พลอยได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรายการต่อไปนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของชาวฟิลิปปินส์
 

 

  1. Cleaning and Disinfection products
 
  1. Skin and Body care
 
  1. Vitamins and Health Supplements
 
  1. Electronic Healthcare Products / Equipment (Massagers, Home Fitness Equipment, Air purifiers, Humidifiers, UV Light Machines Streamers)
 
  1. Mental Health (Mental Health Services, Stress Management, Therapeutic Activities)
 
  1. Organic Products / Healthy Food to boost immune system
 
  1. Home care / Remedies (Hair care, Skin care, Oral care, Foot & Nail care)


         เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดสรรงบประมาณให้สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ จัดการจับคู่ธุรกิจในแบบออนไลน์ ที่ได้พบกับคู่ค้าแบบตัวต่อตัวมากกว่า 3 รายและได้พบคู่ค้าผ่านช่องทางออนไลน์จากทั่วโลกอีกไม่ต่ำกว่า 3 ราย เป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยได้เปิดตลาดต่างประเทศในแบบพร้อมรับมือกับการที่ธุรกิจกลับมา (resume) ในช่วงปลายปี โดยมีกิจกรรม Online Business Matching 2021 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาดเชิงลึก ปีงบประมาณ 2564 ที่เป็นกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเลือกเข้าร่วม ดังนี้
 
  1. Thailand-Philippines Online Business Matching 2021
        โอกาสส่งออกกลุ่มสินค้าแฟชั่นและความงาม
        ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัคร  https://bit.ly/3cLvx54

 
  1. Thailand-India Online Business Matching 2021
           โอกาสส่งออกกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ ของขวัญ ของใช้และของตกแต่งบ้าน 
           ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัคร   https://bit.ly/35r3FiE
 

       นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ที่จะรับทราบข้อมูลความต้องการจากตัวแทนผู้ซื้อในต่างประเทศ รับทราบวิธีการและขั้นตอนปฏิบัติในการเจรจาการค้าให้ได้ยอดขายจริง และยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ที่มอบสิทธิพิเศษ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ด้วยบริการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการตลาดและการเงิน และการได้รับพิจารณาอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน (* ทั้งนี้ เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด)


      ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) คาดหวังที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท ในห้วง 1 ปีข้างหน้า จากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS