วว. มุ่งสร้างธุรกิจใหม่ให้ผู้ประกอบการ ด้วยศักยภาพวิจัย ผลิต และบริการ ตั้งเป้าลดนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โชว์ศักยภาพ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม สำหรับเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม




        กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  โชว์ศักยภาพ  ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม หรือ Innovative Center for Production of Industrially used microorganisms  (ICPIM)  สำหรับเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ  มุ่งเป้าระยะยาวชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์  สำหรับการวิจัยพัฒนา ผลิต บริการ ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากโพรไบโอติก/พรีไบโอติก ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคนไทย สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ
 
 
        ศ. (วิจัย)  ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว.   กล่าวว่า    วว. มุ่งบริการด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ วว. ทั้งในระดับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ Start up  SMEs ผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือต้องการแก้ไขปัญหาการผลิต ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น โดยมีกลไกสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ โดย ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยศักยภาพที่เป็นศูนย์ชั้นนำซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำหรับการวิจัยพัฒนา การผลิต และบริการ ในส่วนของอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้จากโพรไบโอติกและพรีไบโอติก (Probiotic/Prebiotic) รวมทั้งจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหาร
 
 
        ICPIM เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล และหน่วยกระบวนการผลิตที่รองรับ มาตรฐาน GHP และ HACCP นอกจากนี้  ICPIM  ยังเป็นที่ตั้งของ ธนาคารสายพันธุ์โพรไบโอติก ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นคุณสมบัติด้านโพรไบโอติก ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)โดยสายพันธุ์โพรไบโอติกที่อยู่ในธนาคารฯ แห่งนี้ ได้รับการเก็บรักษาภายใต้มาตรฐานสากลของ The World Federation for Culture Collections (WFCC) ICPIM  ให้บริการสายพันธุ์จลินทรีย์ไพรไบโอติก มากกว่า 50 สายพันธุ์  ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติการเป็นพรีไบโอติก-โพรไบโอติก เพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และการส่งออก  บริการทดสอบคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์  และสารชีวภาพในด้านการต้านอนุมูลอิสระ  การยับยั้งเซลล์มะเร็ง  การสร้างและปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน   การยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรค  การศึกษากิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอล  บริการวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติกในอุตสาหกรรมอาหารด้วยระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล   บริการทดสอบพิษวิทยาต่อหน่วยพันธุกรรม  (Genetic Toxicity) ตามมาตรฐานการทดสอบความเป็นพิษ  ตามหลักการ OECD GLP
 
 
        “จากศักยภาพของ ICPIM ดังกล่าว วว. มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแต่ได้คุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ  และในขณะเดียวกัน วว. ทำการวิจัยพัฒนาควบคู่ไปกับการให้บริการด้วย เพื่อนำเอาจุลินทรีย์และความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เช่น  จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร เพื่อสร้างให้เป็นพรีไบโอติกและโพรไบโอติก แล้วนำไปเป็นผลิตเป็นอาหาร  อาหารเสริม ในรูปแบบต่างๆ  เพื่อทำให้ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ช่วยเสริมให้สุขภาพดีขึ้น   เนื่องจากคนไทยจะมีความแตกต่างในลักษณะของสภาพร่างกายและอาหารการกินของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันออกไป  เชื้อที่ได้ในประเทศของเราจะเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยมากกว่า  ปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าหัวเชื้ออยู่ที่ประมาณ  300  กว่าล้านบาทต่อปี  ICPIM สามารถจะชดเชยในส่วนนี้ได้ประมาณ  20-30 เปอร์เซ็นต์  ในช่วงแรกของการดำเนินงาน ทั้งนี้ วว. ตั้งเป้าว่าในระยะยาวจะสามารถชดเชยให้ได้  100 เปอร์เซ็นต์  เพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
 

 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS