NIA มุ่งปั้น New Gen สู่ผู้ประกอบการนวัตกรรมด้วยโปรแกรมเสริมศักยภาพนวัตกรตัวน้อย!

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าส่งเสริมและสร้างโอกาสให้เยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจนวัตกรรมผ่านโครงการและโปรแกรมที่ครอบคลุมการเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย




     สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าส่งเสริมและสร้างโอกาสให้เยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจนวัตกรรมผ่านโครงการและโปรแกรมที่ครอบคลุมการเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมปูพื้นฐานสำหรับแนวทางการคิดหรือสร้างไอเดียทำธุรกิจ โปรแกรมส่งเสริมเยาวชนแบบเชิงรุกในโรงเรียน โปรแกรมทดลองฝึกงานเพื่อเติมเต็มประสบการณ์กับเจ้าของธุรกิจตัวจริง โครงการประกวดไอเดียการสร้างธุรกิจนวัตกรรม รวมไปถึงโปรแกรมการสนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจเป็นจริง พร้อมเผยที่ผ่านมา NIA ส่งเสริมความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ ให้เยาวชนจนสามารถจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรมได้จริงกว่า 40 ธุรกิจ 


     ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้กับเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ หรือการทำธุรกิจนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ NIA ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะประกอบธุรกิจตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาหรือเพิ่งเรียนจบใหม่เพิ่มมากขึ้น  NIA จึงริเริ่มแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนให้มีช่องทาง และมีตัวเลือกในการเรียนรู้รูปแบบการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถผลิตสตาร์ทอัพรุ่นใหม่โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพทางนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งจะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งและเติบโตแบบก้าวกระโดด 


     ที่ผ่านมา NIA ได้พัฒนาหลักสูตร - แผนการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนตั้งแต่วัย 7-30 ปี โดยแต่ละหลักสูตรจะมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรสำหรับเด็ก ไปจนถึงหลักสูตรสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก โดยมีโปรแกรมที่น่าสนใจ ดังนี้
 
  • โปรแกรมสำหรับเด็กเล็ก-มัธยมศึกษาตอนต้น เป็นโปรแกรมการส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรให้แก่เยาวชนผ่านฐานการเรียนรู้ STEAM4INNOVATOR โดยจะเน้นการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทดลองสร้างธุรกิจนวัตกรรม ตั้งแต่กระบวนการหาไอเดีย การเรียนรู้ขั้นตอนในการทำธุรกิจ การจัดการธุรกิจในแต่ละด้าน ไปจนถึงการสร้างตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือ นวัตกรรมเพื่อให้ผู้ใช้งานพึงพอใจ ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ปรับฐานการเรียนรู้ STEAM4INNOVATOR ไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้เด็กได้เข้าไปทดลองคิดไอเดียการทำธุรกิจผ่านหัวข้อที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กมีโอกาสสร้างสรรค์ไอเดียในทำธุรกิจนวัตกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
 
  • โปรแกรมสำหรับเด็กมัธยม ในชื่อ STEAM4INNOVATOR  @School ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะเข้าไปส่งเสริมความเป็นนวัตกรให้แก่นักเรียนด้วยการเข้าไปสอนและความรู้เกี่ยวกับการคิด และการทำธุรกิจนวัตกรรมผ่านห้องเรียนพิเศษ หรือห้องเรียนในวันเสาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาชนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ โดยที่ผ่านมา NIA ได้นำร่องในโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดี และในปี 2564 จะขยายการเข้าไปให้ความรู้ในอีก 50 โรงเรียนภายใต้โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ซึ่งเป็นการกระจายความรู้ไปให้แก่โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด 
 
  • โปรแกรมสำหรับอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย จะเน้นการให้ความรู้ผ่านการประกวดไอเดียในการทำธุรกิจนวัตกรรม เพื่อคัดเลือกเยาวชนที่มีไอเดียน่าสนใจและเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม และเข้าค่ายอย่างเข้มข้น โดย NIA ได้แบ่งประเภทโครงการจัดประกวดออกเป็น 2 โครงการ คือ โครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Innovation Awards ) ซึ่งจะเน้นการทดลองไอเดียในการทำธุรกิจและพัฒนาวัตกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ โครงการ STARTUP THAILAND LEAGUE  ที่เน้นประกวดแนวคิดการทำธุรกิจนวัตกรรมสำหรับนักศึกษาหรือนักเรียนอาชีวะที่อยากจะเป็นสตาร์ทอัพ โดยจะมีการสอดแทรกให้เยาวชนได้เรียนรู้ในขั้นตอนการทำธุรกิจในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น 
 
  • โปรแกรมสำหรับนิสิต/นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย  จะเน้นการส่งเสริมศักยภาพด้านผู้ประกอบการให้แก่เยาวชนผ่านโครงการ Founder Apprentice โดยเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าไปฝึกงานกับเครือข่ายบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นการฝึกงานที่ให้เด็กได้ทดลองลงมือทำจริงในทุกแผนกร่วมกับสตาร์ทอัพผู้ก่อตั้งธุรกิจนั้น ตั้งแต่การดูภาพรวมการบริหารจัดการธุรกิจ การหาพาร์ทเนอร์ร่วมธุรกิจ การประชุม การพบปะพูดคุยกับลูกค้า การพิชชิ่งงาน สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้เพิ่มพื้นฐานการเป็นเจ้าของธุรกิจจริง และได้เรียนรู้กระบวนการในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Achievement Program ซึ่งจะคอยแนะนำการจัดตั้งบริษัทแบบเข้มข้น พร้อมทั้งมีเงินทุนสนับสนุนให้เยาวชนได้ต่อยอดการทำธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ไอเดียการทำธุรกิจของเยาวชนเกิดขึ้นจริงและพร้อมที่จะสู้กับโลกธุรกิจนวัตกรรมจริงได้อย่างสมบูรณ์



     ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า  ในช่วงที่ผ่านมา NIA ได้มีการส่งเสริมเยาวชนให้สามารถก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรม - สตาร์ทอัพได้สำเร็จแล้วกว่า 40 บริษัท  และมีบางบริษัทที่สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้สูงถึงหลักสิบล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้การสนับสนุนเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้น ก้าวต่อไปของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย


      ในอนาคต NIA จึงเตรียมกระจายหลักสูตรและแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม ออกเป็น  2  ทางหลัก โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายในช่วงวัย คือ ระดับประถม -มัธยม จะมีการขยายผลผ่าน 2 โครงการ คือ โครงการ Trainer's LAB และโครงการ Steam4innovator @school โดยลักษณะทั้ง 2 โครงการ คือ การขยายผลแบบสร้างตัวคูณผู้สอนผ่านการรับรองจาก NIA และสร้างโรงเรียนนวัตกรรมด้วยการรับรองการสอนในโรงเรียนที่นำกระบวนการเข้าไปปลูกฝังให้นักเรียน โดยวางแผนนำกระบวนการนี้เข้าสู่ระดับโรงเรียน ใน 6 ภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องที่ภาคใต้ร่วมกับ มรภ. ยะลา และจะขยายผลต่อในอีก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และ ช ระดับอุดมศึกษา ที่มุ่งพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการในคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการ FounderApprentice โดยเน้นการเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการฝึกงาน ซึ่งมีแกนหลักปลายทางให้เยาวชนสามารถเติบโตไปเป็น ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Entrepreneur) หรือ บุคลากรนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนานวัตกรรมระดับองค์กร (Intrapreneur) หรือ การสร้างอาชีพใหม่ที่หลากหลายสายสร้างสรรค์ (creative career) 




     ด้านปาลิตา วิษณุโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แอ็กนอสเฮลท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอป พลิเคชัน AGNOS -รู้ทันโรคด้วย AI กล่าวว่า ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Founder Apprentice (FA) ของ NIA ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้แนวคิด วิธีการทำงานในโลกธุรกิจจริงพร้อมฝึกงานกับสตาร์ทอัพแถวหน้าของเมืองไทยดังนั้น จึงทำให้สนใจและอยากลองทำธุรกิจสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำแอปพลิเคชัน “Agnos-รู้ทันโรคด้วย AI” แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วย เนื่องจากเห็นถึงภาระที่ประชาชนเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากทั้งที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลารอพบแพทย์เป็นเวลานาน รวมทั้งยังทำให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ดังนั้น ตนและทีมจึงเห็นว่าควรมีแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจเช็คอาการของตนเองเบื้องต้นได้ก่อนจะไปพบแพทย์ หรือไปซื้อยาขึ้น และหลังจากที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว ปัจจุบันแอปพลิเคชันสามารถคัดกรองโรคได้มากถึง 170 โรค และภายหลังจากที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ 5 เดือน มีผู้ใช้งานมากกว่า 30,000 ราย


     โดยสิ่งที่ช่วยให้ตนมีความกล้าที่จะลองทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการกับ NIA เพราะแต่ละหลักสูตรช่วยให้เรามองเห็นภาพการทำธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และช่วยให้เราเกิดความมั่นใจที่จะลองทำธุรกิจ และสิ่งที่อยากฝากถึงเด็กๆ รุ่นใหม่คือ นวัตกรรมมีความสำคัญมาก เพราะนวัตกรรมทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ ซึ่งเราจะเห็นว่าทุกวันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลงและถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ที่เราไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง และในอนาคตตนเทรด์นวัตกรรมก็จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมาก หากใครที่จับทางและเห็นปัญหาต่าง ๆ ได้ก่อน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะพัฒนาสิ่งแปลกใหม่เพื่อตอบโจทย์เหล่านั้น ซึ่งจะนำมาทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณค่าที่ดีกับสังคม




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup

NEWS & TRENDS