ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ดึงพันธมิตรรายใหม่ HUBBA เสริมแกร่ง โครงการ Smart Business Transformation ปี 2565

ธนาคารตั้งเป้าติดอาวุธเอสเอ็มอีมากกว่า 200 ราย ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน การบริหารองค์กรที่สนับสนุนความหลากหลายของพนักงาน และการปรับใช้ทักษะดิจิทัล

 

     ด้วยผลกระทบและการเผชิญหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความต้องการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยจึงร่วมกับองค์กรพันธมิตรรายใหม่ HUBBA ในโครงการ Smart Business Transformation หรือ SBTP ประจำปี 2565 เพื่อแบ่งปันเทรนด์และข้อมูลเชิงลึกในเรื่องการปรับองค์กรและธุรกิจสู่ดิจิทัล โดย HUBBA เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มนวัตกรรมและผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทยที่ได้ให้คำแนะนำสนับสนุนผู้ประกอบการมามากกว่า 2,000 ราย อาทิ Bitkub ยูนิคอร์น รายที่สองของประเทศไทย

     นอกจากนี้ SMEs มากกว่า 200 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการหลักสูตร 3 เดือนจะได้รับคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน การบูรณาการหลักการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน รวมถึง แนวคิดการบริหารองค์กรที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้นับเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรลุความสำเร็จขององค์กรและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ  นอกจากนี้ SMEs ยังจะได้เรียนรู้ทักษะดิจิทัลในด้านต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ การปรับโครงสร้างธุรกิจ การตลาดดิจิทัล และการพัฒนาด้านลูกค้า และเข้าถึงโซลูชันเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถช่วยพวกเขาเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันทางธุรกิจ

     สิรินันท์ จิรดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “การระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล จากผลสำรวจของเรา พบว่า SMEs มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เน้นไปที่การปรับตัวเป็นดิจิทัล การตลาดดิจิทัล และการส่งมอบประสบการณ์แก่ลูกค้าเพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน”

     “ผลสำรวจของธนาคารยังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าหนึ่งในสอง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทนยั่งยืนอันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของลูกหลานพวกเขาในอนาคต ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ความเป็นดิจิทัลมีความสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว สิ่งสำคัญที่ SMEs ต้องตระหนักคือการผสานความยั่งยืนเข้าไปในกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเสริมประสิทธิภาพรากฐานทางธุรกิจของพวกเขา”

     ชาล เจริญพันธ์ CEO & Co-Founder HUBBA กล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี 2555 HUBBA ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ผ่านเครือข่ายและการบ่มเพาะทางธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมตอบโจทย์ของตลาดและประสบความสำเร็จออกสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่อง และจากการระบาดของโควิด-19ที่ผ่านมา เราได้สังเกตการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและพบว่านี่คือโอกาสของ SMEs ที่จะปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจและกลยุทธ์ในการทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า ยิ่งธุรกิจสามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในเชิงลึกได้มากขึ้นเท่าไร ความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาดก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น นอกจากการปรับตัวสู่ดิจิทัลแล้ว เราพบว่า SMEs ยังต้องการคำแนะนำในด้านการบริหารองค์กรและทรัพยากรบุคคลด้วย จากการที่เราเห็นเจ้าของธุรกิจจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาด้านนี้ เราจึงรวบรวมเอาหลักสูตรการฝึกอบรมในด้านการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมองค์กรเข้ามา เนื่องจากเรื่องนี้มีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อทัศนคติและแรงจูงใจของพนักงานซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า”

มุ่งมั่นผสานความร่วมมืขับเคลื่อน SMEs ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

โครงการ Smart Business Transformation (SBTP) ดำเนินงานโดย The FinLab หน่วยงานบ่มเพาะนวัตกรรม (Innovation Accelerator) ดำเนินงานภายใต้ธนาคารยูโอบี  พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตรชั้นนำได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้ได้ให้การสนับสนุนโครงการ SBTP มาโดยตลอดในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา

สสว. ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในการสนับสนุน SMEs ของประเทศไทยได้กำหนดนโยบายและแผนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการยกระดับทางเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า “ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3.2 ล้านราย ส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนพวกเขาให้มีศักยภาพสูงขึ้นและสามารถแข่งขันในตลาดต่อไปได้ คือการได้ประชาสัมพันธ์ให้พวกเขาเข้าร่วมโครงการ SBTP ซึ่งเปรียบเสมือนช่องทางด่วนพิเศษในการพัฒนาทักษะดิจิทัล เร่งความสามารถในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเข้าถึงการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล”

สวทช. มีบริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล ผ่านโปรแกรม Innovation Technology Assistance Programme (ITAP)  เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปี ของความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เราประสบความสำเร็จในการสนับสนุน SMEs ไทยจำนวน 35 ราย ให้มีแนวคิดในการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นกว่า 20 ล้านบาท ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ITAP ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนไปแล้ว 5 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลให้กับองค์กร”

depa ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนด้านโซลูชันเทคโนโลยีแก่ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ระยะเวลาความร่วมมือกว่า 3 ปีของ depa กับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัลของ SMEs รวมถึงการขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีชาวไทย เราเชื่อว่า SMEs ที่เข้าร่วมจะไม่เพียงสามารถปรับตัวเข้ากับโซลูชันที่เป็นดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่าน SBTP เท่านั้น แต่โครงการยังเปิดกว้างสำหรับโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจระหว่าง SMEs และผู้ให้บริการโซลูชัน การสร้างเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลได้”

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในปี 2562 โครงการ SBTP ได้รับความสนใจจาก SMEs ในประเทศไทยมากกว่า 4,000 ราย โดยมี SMEs มากกว่า 600 รายที่นำเทคโนโลยีไปปรับใช้เพื่อช่วยพัฒนาการตลาด (Front-end) และกระบวนการทำงานหลังบ้าน (Back-end)

โครงการ SBTP เปิดรับเจ้าของธุรกิจ SMEs หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ที่พร้อมเปิดรับแนวคิดใหม่ในการทำธุรกิจ มีความกระตือรือร้นในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและความพร้อมในการลงทุนด้านเครื่องมือดิจิทัล และสามารถให้เวลากับโครงการได้อย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาสามเดือนของโครงการ ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสนใจ จำกัดสาขาธุรกิจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ SBTP ได้ที่ www.facebook.com/uob.th หรือ https://thefinlab.com/th/thailand จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

 

www.smethailandlcub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS