ไอเดียเพิ่มยอดขายให้เข้ากับกระแส O Box หยิบผัก-ผลไม้นอกสายตา สร้างมูลค่าใหม่ในกล่องสุ่ม

เรื่อง จีราวัฒน์ คงแก้ว

ภาพ O Box

 

           ผัก-ผลไม้ออร์แกนิกหน้าตาไม่สดสวย แต่บรรจุความจริงใจจนเต็มกล่อง ส่งไปเสิร์ฟคนรักสุขภาพที่ไม่ติดความหรู เข้าอกเข้าใจคนทำเกษตรอินทรีย์ อยากได้ของดีที่ไม่สวยแต่รูป และอยากสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรไทย นี่คือ O Box” (โอ บ็อกซ์) กล่องสุ่มผัก-ผลไม้ออร์แกนิกที่ไม่สวย เกษตรกรขายไม่ได้ นำมาบรรจุลงกล่องสุ่ม พร้อมให้ผู้บริโภคได้เซอร์ไพรส์กับผลผลิตที่ดีจากภายใน หากินได้ตามฤดูกาล

1

            ไอเดียสุดสร้างสรรค์มาจาก เอ๊ง-สาโรจน์ สุวัณณาคาร” ผู้กำกับโฆษณาฝีมือดี เจ้าของบริษัทโปรดักชันเฮ้าส์ ทศกัณฐ์ ฟิล์ม ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเกือบ 4 ทศวรรษ ขับเคลื่อนธุรกิจในนาม “บริษัท ทศกัณฑ์ ฟิล์ม จำกัด” มานานกว่า 20 ปี   

         ทำไมจู่ๆ ผู้กำกับโฆษณาถึงลุกมาทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์ แถมยังอินเทรนด์ทันกระแสในยุคที่ “กล่องสุ่ม” กำลังได้รับความนิยมอย่างมากเสียด้วย

           สิ่งที่นอกเหนือไปจากคำพูดสวยหรู คือความจริงของคนทำธุรกิจ ในยุคที่กำลังถูกคลื่นดิจิทัลดิสรัปต์ธุรกิจเก่า เป้าหมายของเขาคือต้องเอาองค์กรและลูกน้องกว่า 30 ชีวิตให้รอด! หน้าทั้งสิบกับอีกยี่สิบมือของทศกัณฑ์ เลยต้องขยับมาทำธุรกิจที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจสายสุขภาพ โดยเริ่มจากเปิดตัว White Organic Market  (ไวท์ออร์แกนิค มาร์เก็ต) (https://whiteorganic.org) ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ออแกร์นิกคุณภาพบนโลกออนไลน์ ที่ให้ผู้คนเข้าถึงธรรมชาติและสุขภาพดีได้อย่างง่ายๆ

2

          จากการทำงานใกล้ชิดเครือข่ายเกษตรกร ได้ฟังปัญหาของคนทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะผลผลิตที่ต้อง “คัดออก” เพราะไม่สวย ไม่ได้คุณภาพ ขนาดไม่ได้ ไม่โดนใจผู้ซื้อ ทั้งที่ผลผลิตเหล่านั้น กินได้ สะอาดปลอดภัย และดีต่อสุขภาพไม่ต่างจากออร์แกนิกเกรดพรีเมียมแต่อย่างใด นั่นเองที่จุดประกายให้เขา อยากลุกมาทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และธุรกิจก็อยู่ได้ด้วย

        “ผมไปเยี่ยมสวนผักเกษตรกร ผักบางชนิดใช้เวลาปลูกนาน 3 เดือน บางครั้งเพลี้ยลงเขาก็ขายไม่ได้ พอได้ผลผลิตส่งมาที่เราเขายังต้องเด็ดทิ้งไปครึ่งหนึ่งทำร้ายจิตใจมาก ของที่เป็นรูก็ต้องทิ้ง ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์กับเกษตรกรเท่าไร และผู้บริโภคเองก็ควรได้เรียนรู้ว่า ผักออร์แกนิกต่อให้จะเป็นรู จะเหี่ยว จะไม่สวยไปบ้าง แต่มันยังกินได้ และอร่อย ผมอยากให้ผู้บริโภคกลุ่ม C หรือ C- มีโอกาสเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ในราคาถูกลง มองว่าถ้าคนไทยสามารถกินผักผลไม้ออร์แกนิกได้ทั้งประเทศ เกษตรกรหันมาปลูกผักออร์แกนิกกันมากขึ้นเพราะตลาดรองรับ มันคงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ผมเลยตัดสินใจรับซื้อผลผลิตที่ขายไม่ได้ของเกษตรกร แล้วมาทำกล่องสุ่มขายในชื่อ O Box

3

          มีอะไรซ่อนอยู่ในกล่อง O Box สาโรจน์บอกเราว่า มีอยู่ 4 แบบให้เลือกสุ่ม คือ  กล่องสลัดออร์แกนิก, กล่องผักสวนครัวออร์แกนิก, กล่องผลไม้ออร์แกนิกและปลอดสาร, กล่องออร์แกนิกรวม

         โดยแต่ละกล่องจะเป็นผักและผลไม้ตามฤดูกาล ขายในราคาเหมาๆ กล่องละ 500 บาท กินได้ทั้งสัปดาห์ โดยในกรุงเทพฯ คิดค่าส่งที่ 50 บาท ส่วนต่างจังหวัดเนื่องจากต้องใช้รถควบคุมอุณหภูมิจึงมีค่าส่งสูงขึ้นที่ 190 บาท

         O Box รับซื้อผลผลิตโดยตรงกับเกษตรกรที่ได้มาตรฐานออร์แกนิกรับรองไม่หลอกลวง หลายครั้งจึงได้เห็นความจริงใจน่ารักๆ สาโรจน์ยกตัวอย่างวันที่เกษตรกรผู้ปลูกเมลอนออร์แกนิกโทรมาบอกเขาว่าผลผลิตรอบนี้ไม่หวาน คงขายให้ไม่ได้ ใครจะคิดว่าเพราะคำพูดจริงใจนั้น ทำให้เขาตัดสินใจรับซื้อผลผลิตทั้งหมดไว้

        “มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาปลูกเมล่อนแล้วมันไม่หวาน อาจจะใส่ปุ๋ยผิดวันอะไรอย่างนี้ เขาโทรมาหาผมบอกตรงๆ ว่ามีสินค้าไม่หวานจะเอายังไงดี ผมก็บอกว่ามันก็น่าจะมีคนเป็นเบาหวานอย่างผมที่ชอบของไม่หวานเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แล้วผมก็เป็นนักโฆษณาอยู่แล้ว ผมก็นำมาขายแบบไม่หวานไปเลย ซึ่งมันอร่อยด้วย ผมว่ามนุษย์มีทางเลือกเยอะแยะมาก มายเพียงแต่ที่ผ่านมาเราติดอยู่กับกับดักที่เราคุ้นชิน ทำเป็นประจำเท่านั้นเอง ถ้าผมไปพูดว่า ลองซื้อเมล่อนที่ไม่หวานดูสิมันอาจจะมีคนอยากลอง โอเคคนอาจจะลองน้อย ผมอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ผมอาจขายในราคาเท่ากับลูกที่หวานเลยก็ได้ จากที่เกษตรกรต้องทิ้ง ก็อาจขายเราในราคาครึ่งหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้ เขาก็ได้ อย่างน้อยเขาก็มีเงินไปลงทุนอะไรของเขาต่อ”

        เขาสะท้อนมุมคิดซึ่งนำมาสู่การทำงานในวันนี้ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาผลผลิตของเกษตรกรให้ขายได้ และเป็นที่ต้องการ แม้จะรูปไม่สวย ไม่เตะตาผู้บริโภคตั้งแต่แรกเห็น

4

          วันนี้กล่องสุ่ม O Box เปิดตัวในตลาดได้ไม่นาน แต่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้บริโภคสายสุขภาพ ขยับขยายธุรกิจให้ค่อยๆ เติบโตขึ้น แต่สาโรจน์ก็ยอมรับตรงๆ ว่า เพิ่งเริ่มทำและไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จไหม หรือต้องเจอบาดแผลอีกเยอะแค่ไหน แต่ความตั้งใจของเขาและชาว O Box ก็คืออยากทำธุรกิจนี้ให้ยั่งยืน ลูกน้องอยู่ได้ เกษตรกรอยู่รอด และผู้บริโภคก็ได้กินของดีๆ เท่านี้ก็เป็นความสำเร็จในนิยามของเขาแล้ว

             วันนี้ทศกัณฐ์ ฟิล์มกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ แต่ผู้นำอย่างสาโรจน์ก็ยังคงกุมบังเหียนไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง แตกขยายธุรกิจไปหลากหลาย โดยใช้ศักยภาพของคนในองค์กรมาทำเรื่องใหม่ๆ ตั้งแต่เปิดบ้านเรือนไทย “บ้านวรรณกวี” เป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน และกำลังจะพัฒนาไปสู่ตลาดนัดและพื้นที่จัดกิจกรรมอื่นๆ ในอนาคต มีร้านกาแฟ “ตามใจคาเฟ่” ซึ่งอนาคตจะมีชาออร์แกนิกวางขายด้วย

           ในส่วนของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก อนาคตก็จะเปิดเป็นหน้าร้าน นอกจากนี้ยังขยายบริการมาทำสื่อโฆษณาราคาเข้าถึงได้เพื่อ SME แม้แต่ยามที่คนฮิตไม้ด่าง ใครจะคิดว่าที่ทศกัณฐ์ ฟิล์มก็มีขาย หรือแม้แต่เรื่องใหม่ๆ อย่าง Cryptocurrency สินทรัพย์ดิจิทัล พวกเขาก็กำลังอยู่ระหว่างศึกษา เรียกว่าอะไรที่เป็นโอกาสก็พร้อมหยิบจับมาลองทำ เหตุผลเดียวที่มือทศกัณฐ์ ต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง สาโรจน์ตอบสั้นๆ แค่

          “ธุรกิจต้องไปต่อ ลูกน้องผมต้องรอด!”

Contact :

Tel : 064 952 0999, FB : oboxorganic

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น