Text: ภัทร เถื่อนศิริ
จากสภาวะตลาดของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่มีปัญหาทั้งเงินเฟ้อ การขาดอำนาจการซื้อของผู้บริโภคนั้น บางทีกลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตคือการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งตลาดต่างประเทศที่ใหญ่และเติบโตสูงคงหนีไม่พ้นประเทศจีนในวันนี้จึงขอแบ่งปันบทเรียนการทำการค้าข้ามพรมแดนจากไทยไปจีนล่าสุดให้ฟังนะครับ
ทำความรู้จัก Cross-Border e-Commerce (CBEC)
Cross-Border e-Commerce (CBEC) เป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกนำสินค้าไปขายในจีนได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกฎระเบียบการเข้าตลาดจีนด้วยช่องทาง CBEC กับ Normal Trade ที่ขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จะพบว่า CBEC เอื้อต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กมากกว่าในเรื่องประเด็นสำคัญ ได้แก่ Import Licensing ที่ไม่ต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นหรือจัดตั้งบริษัทลูกในจีนเพื่อขออนุญาตนำเข้าสินค้า และไม่ต้องมี Chinese Label & Trademark รวมถึง Chinese FDA (อย.ของจีน) ในส่วนระเบียบศุลกากรก็จะมีระบบพิเศษสำหรับ CBEC ที่เข้มงวดน้อยกว่า Normal Trade และแม้ CBEC จะจำกัดแค่ช่องทางออนไลน์ อัตราภาษีแตกต่างกับ Normal Trade รวมถึงจำกัดโควตาการซื้อคนละไม่เกิน 5,000 หยวนต่อการซื้อหนึ่งครั้ง (ไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี) และมีสินค้าจำนวน 1,413 รายการที่ได้รับอนุญาตขายผ่าน CBEC ได้
โดยผู้นำเข้าสินค้าจีนมักเลือกสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมอยู่ก่อนแล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดี เนื่องจากสินค้าที่ได้รับการยอมรับแล้วในตลาดมีโอกาสที่ผู้นำเข้าจีนจะพิจารณาตัดสินใจเลือกมาจำหน่ายต่อไป
ตัวอย่างแบรนด์สินค้าไทยที่ประสบความสำเร็จจากช่องทาง CBEC บนแพลตฟอร์ม Tmall Global ในจีน เช่น เครื่องสำอาง Mistine, Snailwhite, Beauty Buffet และ Beauty Cottage, รังนก Scotch, ดอกบัวคู่, Smooth-E, หมอนยางพารา Napattiga, น้ำมันหอมระเหย Sabai-arom และ Harnn ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว Bath & Bloom และสินค้าอุปโภคบริโภค Tops และ King Power
ข้อจำกัดของ CBEC
เป็นการค้าแบบ B2C หรือเข้าใจง่ายๆ คือ การขายปลีกให้ผู้ซื้อที่เป็นบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ที่เชื่อมกับระบบการจัดเก็บภาษีของศุลกากรจีนและคลังสินค้าทัณฑ์บนทั้งในประเทศจีนและนอกประเทศจีน โดยสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทาง CBEC ไม่สามารถนำไปซื้อขายในช่องทางออนไลน์ปกติและช่องทางออฟไลน์ได้
ความแตกต่างของการค้าแบบปกติ Normal Trade VS. การค้าข้ามพรมแดน CBEC Trade ความแตกต่างในสองเรื่องนี้สำคัญมาก เนื่องจากไม่ใช่ผู้ประกอบการไทยทุกรายเหมาะกับวิธี CBEC แต่อาจจะเหมาะกับวิธี Normal Trade ก็ได้ ดังนั้นก่อนอื่นต้องดูความแตกต่างและข้อจำกัด รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งสามารถสรุปเบื้องต้นได้ ดังนี้
นอกจากนี้ การเลือกใช้แพลตฟอร์ม CBEC ที่เหมาะและคุ้มค่ากับสินค้า เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน ควรเข้าใจการทำงานของแต่ละแพลตฟอร์ม เนื่องจากมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการนำสินค้าเข้าแพลตฟอร์ม เครื่องมือในการสร้าง traffic ของยอดขาย และกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน