57 ปีจากซาเล้ง สู่จักรยานร่วมสมัย





เรื่อง/ภาพ : ยุวดี ศรีภุมมา


    รถถีบสองล้อ หรือจักรยาน เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในยุคนี้ที่จักรยานได้กลายเป็นยานพาหนะที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้ปั่น ให้ดูเป็นคนรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อมและรักสุขภาพ เมื่อมองย้อนกลับไป 50 กว่าปีก่อนกว่าที่จักรยานจะดูทันสมัยเฉกเช่นปัจจุบัน ในช่วงนั้นเองที่ประเทศไทยได้มีโรงงานผู้ผลิตรถจักรยานแห่งแรกถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับสมญาเจ้าพ่อซาเล้ง ภายใต้การดำเนินธุรกิจในนาม บริษัท เจเคซี ไบค์ อินดีสตรี้ จำกัด 


    สมเกียรติ อนันต์สรรักษ์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของเจเคซี ไบค์ ได้เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาในยุคแรกของโรงงานว่า คุณพ่อได้เห็นโอกาสของรถซาเล้งและจักรยานล้อ 28 นิ้วจากเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตจักรยานที่ใหญ่มากในตอนนั้น โดยคุณพ่อนำเอาจักรยานมาแยกชิ้นส่วนเพื่อเป็นต้นแบบและศึกษาการผลิต จนกระทั่งในที่สุดซาเล้งคันแรกก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยนับแต่นั้น 


เส้นทางของเจ้าพ่อซาเล้งไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 

    แม้ว่าในช่วงนั้น เจเคซี ไบค์ จะเป็นผู้ริเริ่มผลิตซาเล้งและรถจักรยานล้อ 28 นิ้ว แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Olympics ผู้นำในยุคนั้นต้องการให้ภาพลักษณ์ของถนนในกรุงเทพมหานครดูสวยงามสะอาดตา จึงกระทบมาถึงผู้ผลิตรถซาเล้งในตอนนั้น ได้ถูกสั่งห้ามขาย ห้ามผลิตรถซาเล้ง หลังจากนั้นเพียงไม่นาน รถซาเล้งก็หายไปจากท้องถนน


    “ในช่วงนั้นที่เขาสั่งห้ามผลิต เพราะต้องการปรับสภาพภูมิทัศน์ในกรุงเทพฯ ให้ดูเจริญรุ่งเรือง ที่บ้านก็กระท่อนกระแท่นเราไม่มีธุรกิจอะไรรองรับเลย เรียกได้ว่าแทบจะเจ๊ง ล้มละลายทีเดียว จนคุณพ่อแอบผลิตก็โดนจับเข้าคุกธุรกิจก็ล้มไปประมาณ 2-3 ปี ลำบากมาก”


    หลังจากมรสุมพัดผ่าน 3 ปีให้หลัง เจ้าพ่อซาเล้งก็กลับมาผลิตจักรยานอีกครั้ง โดยได้หยิบยืมเงินคนใกล้ตัวมาลงทุน จากประสบการณ์ผลิตจักรยานที่ยังไม่เลือนหาย เจ้าพ่อซาเล้งลุกขึ้นสู้และเริ่มใหม่ด้วยการหันมาผลิตจักรยานแบบเต็มตัวกับจักรยานล้อ 28 นิ้วที่รู้จักกันดีในสมัยก่อนว่าจักรยานกุญแจคอ จนได้พัฒนามาเรื่อยสู่จักรยานรุ่นท่าเรือ เป็นจักรยานที่ได้ใจผู้ใช้แรงงานในการบรรทุกสินค้า น้ำแข็งและเตาถ่านหุงต้มในสมัยก่อน จากนั้นพัฒนามาสู่จักรยานล้อ 27 นิ้ว และล้อ 26 นิ้ว ซึ่งเป็นจักรยานธรรมดาที่เชื่อมด้วยทองเหลือง
 


    
จากซาเล้ง สู่จักรยานร่วมสมัย 

    15 ปี ต่อมาก็ได้เข้าสู่ยุคของจักรยานเสือหมอบ ในช่วงนั้นเกิดจากกระแสของ ปรีดา จุลละมณฑล นักปั่นจักรยานเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ส่งผลให้จักรยานเสือหมอบในประเทศไทยโด่งดังขึ้นมาในทันตา

    “ตอนนั้นเสือหมอบกลายเป็นกระแสมาก มาจากกระแสโลกและจากปรีดา ในประเทศไทยตลาดโตมาก ความต้องการใช้จักรยานสูง เราแทบจะผลิตไม่ทัน คู่แข่งเริ่มมีบ้าง แต่เขายังตามเราไม่ทัน ช่วงนั้นเราได้รับความนิยมจากลูกค้าคือจักรยานเสือหมอบล้อ 27 นิ้ว ชื่อยี่ห้อ จากัวร์ กับ อีเกิ้ล แต่เราใช้ชื่อยี่ห้อนี้ได้ไม่นานเพราะติดเรื่องชื่อซ้ำกับรถยนต์และยางรถยนต์”


    ด้วยความที่ชีวิตในวัยเด็กของสมเกียรตินั้นเติบโตและคลุกคลีมากับจักรยาน แม้ว่าตอนแรกสมเกียรติค่อนข้างจะไม่ชอบการประกอบจักรยาน เนื่องจากโดนคุณพ่อบังคับให้ทำ แต่ในที่สุดสายเลือดเจ้าพ่อซาเล้งก็ซึมซับ ทำให้สมเกียรติเรียนรู้การทำจักรยานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมาถึงช่วงที่สมเกียรติเริ่มโตขึ้น พอดีกับที่กระแสของจักรยาน BMX เริ่มเข้ามาหลังจากเสือหมอบ ซึ่งเป็นรุ่นที่สมเกียรติเริ่มก้าวเข้ามาจริงจังในธุรกิจจักรยาน


    “ผมเริ่มเข้ามาช่วงกระแสของ BMX ตอนนั้นเริ่มเป็นหนุ่ม ผลิตเอง ขายเอง ขี่เอง เหตุผลที่เริ่มทำรุ่น BMX เพราะมันเป็นไปตามกระแสโลก จักรยานทุกรุ่นที่เข้ามาในประเทศไทย เข้ามาด้วยกระแสโลก ตอนนั้นกระแสโลกเติบโตและเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จากเดิมที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่และมีคุณภาพ ญี่ปุ่นพัฒนาตัวเองมาผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ เขาเลยขยายฐานมาที่ไต้หวัน ปัจจุบันไต้หวันจึงกลายเป็นประเทศที่ผลิตจักรยานเยอะและมีคุณภาพมากที่สุด”


    จากนั้นสมเกียรติก็เริ่มพัฒนาและผลิตจักรยานรุ่นเสือภูเขา โดยในช่วงเริ่มใช้ชื่อยี่ห้อ เพรสซิเด้นท์ ทอร์นาโด และโกสต์ ซึ่งสมเกียรติจะเน้นจับลูกค้ากลุ่มตลาดล่าง โดยเฉพาะตามแนวชายแดน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการใช้จักรยานสูง 


    “เราเริ่มใช้เพรสซิเด้นท์ ทอร์นาโด และโกสต์ ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ของทอร์นาโดจะอยู่ตามแม่สอด ภาคอีสาน ประเทศลาว กัมพูชา ลูกค้าเขาจะระบุเลยว่าต้องการยี่ห้อทอร์นาโด เพราะผมรู้ว่าพวกเขาชอบอะไร พวกเขาชอบสติกเกอร์ของเรา ที่เราออกแบบ มันเป็นเรื่องของดีไซน์ เราเข้าใจผู้บริโภค”

 
    
เมื่อมีคู่แข่ง กลยุทธ์ปรับตัว 

    ถึงวันที่การผลิตจักรยานแบบเดิมๆ เหมือนในสมัยก่อนจะอยู่ได้ยากขึ้น เมื่อมีเสียงร้องต้องการใช้จักรยานจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ตลาดโตขึ้น ทำให้คู่แข่งก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่สมเกียรติเริ่มมองหา นั่นคือ ความยั่งยืน การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งเป็นสิ่งแรกที่สมเกียรติเริ่มทำ 


    “4 ปีที่แล้วผมเริ่มใช้แบรนด์ Iconic เป็นแบรนด์ที่ใช้สำหรับจักรยานเสือหมอบและจักรยานฟิกเกียร์ ซึ่งเหมาะสำหรับลูกค้าตลาดบนและกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะฟิกเกียร์ ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนเริ่มผลิตเจ้าแรก ตอนแรกเรามองข้ามฟิกเกียร์ไปเพราะเห็นว่าคันหนึ่ง 3 หมื่นกว่าบาท เลยไม่ได้สนใจ จนมีลูกค้าคนหนึ่งโทรศัพท์มาหา บอกเราว่า ทำฟิกเกียร์สิ  หลังจากนั้นผมโทรศัพท์ไปไต้หวัน ขอ Drawing ผมรู้แล้วว่าข้อดีผมมีอะไร 1.เรื่องสี ผมมีเทคนิคการทำสีเลเซอร์ ใช้คนน้อยกว่าโรงงานอื่น 2.เรื่องการออกแบบ ดีไซน์สติกเกอร์ 3.เรื่องของโครงสร้างจักรยาน ผมมาปรับ มาพัฒนา จนออกขายฟิกเกียร์ มีติดสติกเกอร์ว่า Spin non-stop และ I love Fixed Gear ปกติแล้ววัยรุ่นที่ซื้อ Fixed Gear จะชอบแกะสติกเกอร์ที่มาจากโรงงานออก แต่ของเราเขาไม่แกะ เหมือนว่าเขาจะดูเท่มาก ถ้าได้ขี่ Fixed Gear ของเรา นั่นเป็นความภาคภูมิใจ”


    นอกจากนี้ สมเกียรติยังมีการปรับตัว โดยเริ่มทำจักรยานให้กลายเป็นสินค้าโฆษณา รวมถึงจักรยานเพื่อการทำ CSR ให้กับองค์กรต่างๆ อีกด้วย 


    “ช่วงที่เรากำลังคิดว่าจะนำเข้าจักรยาน Hi-Ended ตอนนั้นสภาพเรายังไม่พร้อม ไม่มีพื้นที่ เราเลยทำ R&D ตัวหนึ่ง เริ่มมองว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบันไปรอด เลี้ยงคนงานได้ดี ก่อนที่จะนำเข้ารถนอกมาแข่งขัน เลยเริ่มพัฒนาจักรยานของเราให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการโฆษณา รวมถึงพัฒนาให้สินค้าเข้าไปอยู่ในกลุ่มจักรยานบริจาค ตัวแรกของเราคือจักรยานของ Dtac สั่งเรา 500 คันเพื่อไปบริจาค เราผสานไอเดียกัน เรื่องการออกแบบสติกเกอร์เราถนัดอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็มีอีกหลายองค์กรที่เข้ามาหาเรา ส่วนจักรยานโฆษณา สมมุติเวลาคอนโดฯ จะขึ้นโครงการใหม่ แทนที่จะจ้างคนมาโบกธง ก็เอาจักรยานเรา ติดสติกเกอร์ ติดป้ายโฆษณาและขี่จักรยานในตอนช่วงที่รถติดเช้า เย็น ซึ่งได้ผลกว่าการโบกธงมาก”

 


    
    สำหรับในปัจจุบัน เจเคซี ไบค์ ยังคงดำเนินการผลิตจักรยานอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ OEM ผลิตภายใต้แบรนด์ของตนเองและส่งขายให้ยี่ปั๊ว รวมถึงผลิตจักรยานเพื่อการโฆษณาและ CSR อีกด้วย โดยในอนาคต สมเกียรติมีแนวคิดริเริ่มในการทำหน้าร้านของตนเองและมีการให้ลูกค้าสามารถเข้าสั่งประกอบจักรยานในรูปแบบของ Customize ให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าแต่ละคนมากที่สุด 


    เมื่อเวลาผ่าน สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือคุณภาพและความเอาใจใส่ที่เจเคซี ไบค์ มอบให้แก่ลูกค้านักปั่นของเขา นอกจากนี้ เจเคซี ไบค์ ยังไม่หยุดนิ่ง แม้ว่าจะดำเนินกิจการมานานแค่ไหนก็ตาม เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เท่าทันกับความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม จักรยานของเขาได้อยู่คู่กับนักปั่นมามากกว่า 50 ปี 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย