​ฮิลล์คอฟฟ์ สร้างต้นแบบความเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

Text : กองบรรณาธิการ




     จากจุดเริ่มเล็กๆ ในการส่งเสริมชาวเขาให้หันมาปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่นในสมัยคุณปู่ของ นฤมล ทักษอุดม และเติบโตพัฒนามาสู่การทำธุรกิจกาแฟแบบครบวงจรในชื่อ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เรียกได้ว่า ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกกาแฟกับเกษตรกรอย่างจริงจัง รับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร นำมาแปรรูปคั่วกาแฟจากโรงงานที่ได้มาตรฐานและจำหน่ายไปยังร้านกาแฟสดทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายหมู่บ้านเกษตรกรในภาคเหนือประมาณ 90 หมู่บ้าน รวมถึงที่ภูเรือ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และตาก โดยทั้งหมดเป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ส่วนกาแฟพันธุ์โรบัสต้าจะรับซื้อจากทางภาคใต้ จังหวัดชุมพร และระนอง  





     นับได้ว่า ฮิลล์คอฟฟ์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการได้รับรางวัลในมิติโดดเด่นด้านธุรกิจเพื่อสังคม จากการประกวด SME Thailand Inno Awards 2017 โดยฮิลล์คอฟฟ์จัดเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟระบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งมีระบบติดตามควบคุมไม่ให้มีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับพันธุ์กาแฟ การถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะปลูกและการจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพสูง โดยบริษัทจะรับซื้อผลผลิตคืนทุกเกรดของเมล็ดกาแฟในราคายุติธรรม แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นสินค้า





     ในด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดกลิ่นและควันที่ช่วยลดมลภาวะจากฝุ่นและควันของโรงคั่วสู่ชุมชน บริษัทมีการดำเนินงานในเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างจริงจังและต่อเนื่องจนได้รับฉลากทอง และขึ้นทะเบียน Carbon Footprint จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยจะสำรวจดูว่ากระบวนการผลิตในส่วนใดบ้างที่สร้างก๊าซเรือนกระจก จากนั้นก็ศึกษาหาวิธีทำให้ลดลงด้วยงานวิจัย เช่น การหาวิธีป้องกันเปลือกของเมล็ดกาแฟเชอร์รีที่เหลือทิ้งเน่าและสร้างสารพิษออกมา จนทำให้ได้ชาเชอร์รีกาแฟ สินค้านวัตกรรมใหม่ ที่สำคัญยังต่อยอดนำไปสู่การทำสารสกัดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ คือช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้ ทำให้ไขมันในตับมีขนาดเล็กลง ร่างกายสามารถขับทิ้งได้ ซึ่งนอกจากจะได้นวัตกรรมแห่งอนาคตแล้ว ยังส่งผลให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ลดค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ให้บริษัทถึง 16 เปอร์เซ็นต์ และตั้งเป้าหมายที่ทำให้ทั้งกระบวนการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอน 0 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต





     นวัตกรรมคือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และไม่จำเป็นต้องเกิดจากระดับผู้นำเท่านั้น แต่ควรเกิดจากพนักงานทุกระดับ โดยอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ในทุกจุด อย่างบริษัทเองจากแต่ก่อนระดับผู้นำจะเป็นคนคิดแล้ววิ่งหางานวิจัยมาสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม แต่ปัจจุบันสามารถทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้จากการคิดของพนักงาน เช่น ตั้งโจทย์ให้พนักงานช่วยกันคิดว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากกล้วยตากและกาแฟได้อย่างไร สุดท้ายพนักงานสามารถแก้โจทย์นี้ด้วยนำเนื้อกาแฟสดปล่อยเข้าไปอยู่ในช็อกโกแลตขาว ซึ่งมีไขมันทำให้ช่วยกักเก็บกลิ่นและรสชาติเนื้อกาแฟสดได้ดีโดยที่ไม่มีกลิ่นช็อกโกแลตแล้วเคลือบกล้วยตากอีกที เป็นต้น  




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน