เริ่มต้นจากช่วงวิกฤติในปีพ.ศ. 2540 ในเวลาที่หลายคนท้อใจ แต่มีผู้ชายคนหนึ่งที่พลิกวิกฤติช่วงนี้ให้เป็นโอกาสจนสร้างแบรนด์ร้านเครปกว่า 100 สาขา กับ บุญประเสริฐ พู่พันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป จำกัด ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินแค่ 40,000 บาท กับการทำร้านเครปเล็กๆ
“เริ่มจากวิกฤติช่วงปี 40 ตอนนั้นผมโดนลดเงินเดือนประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับเรามีความฝันอยากเป็นเถ้าแก่เลยออกมาทำด้วยเงินแค่ 40,000 บาท ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ ตรงทำเลที่ผมเลือกก่อนที่จะเจอวิกฤติค่าที่อยู่ประมาณ 30,000 บาท ตอนนั้นเหลือแค่ 8,000 พันแถมยังไม่มีคู่แข่งด้วย ผมก็เริ่มพัฒนาเปิดร้านมาเรื่อยๆ จน 10 ปี ผมถึงเริ่มเชื่อในสิ่งที่ผมทำ พอผมเชื่อและโฟกัสกับมันเท่านั้นแหละ ยอดขายผมทะยานถึงร้อยล้านบาทเลย”
CR: N&B Pancake
จากเดิมที่บุญประเสริฐทำร้านเครปไปพร้อมๆ กับทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน ทำให้เขาไม่สามารถพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีได้มากขึ้น จนมีหนึ่งแนวคิดที่เปลี่ยนชีวิตเขาคือบทเรียนจากร้าน Dunkin donuts ที่เปิดมากว่า 68 ปีเพื่อขายโดนัทเพียงอย่างเดียว แต่ในตอนนี้ Dunkin donuts ก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพียงแค่มีแนวคิดนี้เข้ามาจุดประกาย ทำให้บุญประเสริฐทิ้งทุกอย่างที่ตนเองทำอยู่และโฟกัสกับการทำร้านเครปเพียงอย่างเดียว จนตอนนี้แฟรนไชส์ N&B ก็ขยายไปไกลจนถึงประเทศลาวเรียบร้อยแล้ว
โฟกัสและศรัทธาในสิ่งที่ทำ
ก่อนหน้าที่บุญประเสริฐจะโฟกัสในการทำร้านเครป ตอนนั้นเขาเองทำหลายอย่างและคิดว่าเครปอาจจะเป็นธุรกิจแฟชั่นเหมือนธุรกิจทั่วไป เมื่อศรัทธาในสิ่งที่ทำยังไม่เกิด ทำให้เขาเสียเวลาไปกว่า 10 ปี
“พอผมได้แรงบันดาลใจจาก Dunkin donuts เชื่อไหมว่าความคิดสำคัญ พอคิดได้แล้วผมทิ้งทุกอย่างแล้วโฟกัสเครปอย่างเดียวเลย พอโฟกัสจากยอดขาย 8 ล้าน ภายในสามปีผมมียอดขาย 100 ล้านเลย เราต้องโฟกัสในสิ่งที่ทำ ทำให้ดี เชื่อในสิ่งที่เราทำ มีศรัทธากับมัน จะทำให้ธุรกิจเราเปลี่ยนทันทีเลย กล้าคิด กล้าเปลี่ยน นี่คือจุดเริ่มต้น”
CR: N&B Pancake
เมื่อมีปัญหา แก้จากภายใน อย่าโทษภายนอก
หลังจากที่โฟกัสกับธุรกิจร้านเครปแบบจริง ต่อมา N&B ก็เริ่มขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาจุกจิกกวนใจจนทำให้ยอดขายหยุดนิ่งหรืออาจจะลดลง หลายคนเริ่มโทษเศรษฐกิจ โทษปัจจัยภายนอก ซึ่งในจุดนี้บุญประเสริฐแนะนำว่าการแก้ไขจากภายในเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
“สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือระบบแฟรนไชส์เป็นระบบที่ดีแต่ก็ต้องศึกษาให้ดีเช่นกัน พอเราเริ่มขยายสาขาได้มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความมั่นใจ ช่วงปี 2558 เป็นปีที่กำไรเราต่ำที่สุดตั้งแต่เปิดมา เพราะเรามั่นใจมากเกินไป เวลามีปัญหาเราจะโทษภายนอก เศรษฐกิจบ้าง อะไรบ้าง แต่เราลืมดูภายใน พอผมมาทบทวนร้านเรา พนักงานอาจจะยังบริการไม่ดี ยังไม่สะอาด คุณภาพไม่ดี ผมก็ปรับจากตรงนี้ก่อน เชื่อไหม ผมแค่ปรับปรุงตรงนี้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2559 เป็นปีที่กำไรสูงสุดตั้งแต่เคยทำมา เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาให้โทษตัวเอง อย่างโทษภายนอก”
สร้างฐานลูกค้าใหม่ตลอดเวลา
ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงธุรกิจทั่วไป สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ เพราะพฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่มีความเบื่อง่ายและชอบลองอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นลูกค้าจะหมุนเวียนเปลี่ยนความชอบ สิ่งที่ต้องทำให้คือการสร้างฐานลูกค้าหน้าใหม่ๆ ทำให้เขากลายเป็นลูกค้าเจ้าประจำ
“ผมเคยลองคิดว่าทำไม ผมกิน KFC น้อยลง แต่ยอดขายเขาดีขึ้น จริงๆ แล้วคือลูกค้าเปลี่ยนใหม่ เขาวน จะมีลูกค้าที่เบื่อไปลองกินของใหม่และจะมีลูกค้าใหม่เข้ามาแทน ดังนั้นเราต้องสร้างฐานลูกค้าใหม่ตลอดเวลา การทำ Marketing ก็สำคัญ ทำยังไงให้ลูกค้าประทับใจและกลายเป็นลูกค้าประจำ สิ่งสำคัญคือการบริการ ความสะอาด คุณภาพของสินค้า ถ้าเกิดของเราดี ลูกค้าก็จะบอกต่อๆ กัน”
ทำตัวเองให้อยู่รอดก่อนขายแฟรนไชส์
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญของการเป็นแฟรนไชส์ซอที่ประสบความสำเร็จนั้นคือการพิสูจน์ตัวเองให้ลูกค้าที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ซีมั่นใจว่าเขาจะไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง ก่อนที่จะเริ่มขายแฟรนไชส์ คุณจะต้องมั่งในว่าธุรกิจของคุณแข็งแกร่ง ทำกำไรได้จริง สามารถขยายสาขาได้ รู้ลึก รู้จริง มี Knowhow ที่สำคัญ
“ถ้าคุณจะเป็นแฟรนไชส์ซอ ต้องมั่นใจว่าธุรกิจคุณสามารถทำกำไรได้จริง อยู่รอดได้จริงและขยายสาขาได้จริง ลองจากตัวเองก่อน ถ้าคุณเองยังขยายสาขาไม่ได้เลย อย่าขายแฟรนไชส์ ส่วนคนที่จะเลือกแฟรนไชส์ซอต้องดูว่าเขามีกี่สาขา เขาเก็บค่า Royalty Fee, Marketing Fee หรือเปล่า ถ้าไม่เก็บแสดงว่าเขาอาจจะบวกกำไรจากวัตถุดิบ ซึ่งทำให้คุณต้องขายในต้นทุนที่แพงกว่า มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ต้องให้แฟรนไชส์ซอดูเรื่องทำเลให้ เพราะเขามีประสบการณ์และ Knowhow แต่ถ้าตัวเขาเองยังมีแค่สาขาเดียวก็มีความเสี่ยงมากในการลงทุน”
ที่มาของข้อมูล : KBank Franchise Expo 2018
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร
Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก
พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน