​ภาษาที่ 3 หลบไป ภาษาคอมฯ มาแรง! ธุรกิจการศึกษาตอบโจทย์เด็กยุคใหม่




 
 
     เมื่อโลกยุคดิจิตอลและเทคโนโลยีมีการเติบโตที่รวดเร็วและเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้วันนี้การเรียนภาษาไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ภาษาพูดของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษาคอมพิวเตอร์ หรือการเรียนโคดดิ้ง (Coding) ที่นับว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสำหรับเด็กยุคใหม่ที่ต้องก้าวให้ทัน อีกทั้งยังมีพื้นที่อีกมากสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ที่ถือว่ากำลังมาแรงอย่างธุรกิจการศึกษาอีกด้วย
 

     ในเรื่องนี้ Fung Ying Lam City Operations Manager ของแบรนด์ First Code Academy สถาบันสอนการโค้ดสำหรับเด็กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียจากฮ่องกง บอกว่า ทางสถาบันมีความมุ่งมั่นที่จะสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้เรื่องของการโค้ดดิ้ง (Coding) คือ การเขียนโค้ดด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีในปัจจุบัน
 




     “หลักสูตรของเรานั้นสอนเด็กอายุตั้งแต่ 4 - 18 ปี เราโฟกัสที่การเสริมสร้างพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการใช้ภาษาง่ายๆ ไปจนถึงซับซ้อน ซึ่งการเรียนโค้ดดิ้งนั้นถือเป็นหนทางสู่การสร้างแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เว็บไซต์ เกมและโปรแกรมอื่นๆ ด้วยตัวเอง”
 

     ด้วยกระแสของผู้ปกครองที่หันมาใส่ใจและอยากเลือกให้ลูกเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมมากขึ้น ทำให้ทางสถาบันเห็นถึงโอกาสของการขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศไทย
 

     “เรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สอนเรื่องการโค้ดดิ้งในเอเชียโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่อย่างมากมายและจำนวนประชากรไทยที่มีค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายลูกค้าที่ดีสำหรับเราที่จะทำการขยายสาขาและเจาะกลุ่มประชากรที่นี่”
 



     แม้การเรียนเขียนโปรแกรมหรือโค้ดดิ้งจะถูกพูดถึงมากขึ้น แต่การให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้อง  
 

     “สำหรับในฮ่องกง สิงคโปร์และไต้หวัน เราเห็นเทรนด์ว่าพ่อแม่เด็กเริ่มมองหาการเรียนโค้ดดิ้งให้ลูกมากขึ้นเรื่อยๆ มักมีคำถามว่า ทำไมลูกฉันต้องเรียนโค้ดดิ้ง โค้ดดิ้งมันสำคัญยังไง หรือมีพ่อแม่เด็กมาหาเราแล้วบอกว่าลูกเขาเรียนภาษาที่ 1 2 หรือ 3 แล้ว ลูกเขาควรจะเรียนภาษาอะไรต่อดี หรือเด็กๆ อายุ 3 ขวบควรเริ่มที่จะเรียนโค้ดดิ้งไหม หรือควรเริ่มเรียนเมื่อไหร่ หรือเรียนได้ที่ไหนบ้าง โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นความเข้าใจในเรื่องการเรียนโค้ดดิ้งอาจจะเหมือนกับฮ่องกงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในเรื่องของจะเรียนโค้ดดิ้งได้อย่างไร รวมถึงการให้ความรู้กับตลาดว่าทำไมโค้ดดิ้งถึงเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่เด็กนักเรียนต้องเรียน”
 




     “ในความเป็นจริง โค้ดดิ้ง ไม่ใช่แค่การสอนเขียนโปรแกรมเพื่อการเขียนเว็บไซต์เท่านั้น แต่เป็นการสอนทักษะต่างๆ ที่ควรมีให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกคิดเชิงวิพากษ์หรือทักษะการวิเคราะห์ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยจะไม่เห็นคล้อยตามเพียงเพราะข้ออ้าง แต่จะตั้งคำถามโต้แย้งข้ออ้างนั้นเพื่อหาคำตอบที่สมเหตุสมผล รวมถึงทักษะการสื่อสารและสร้างความมั่นใจในการคิดอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย”
 

     นอกจากนี้ ทางแบรนด์ยังบอกอีกว่า ด้วยการเติบโตของเทคโนโลยีและความต้องการในการเรียนโค้ดดิ้งทำให้สถาบันอยากที่จะขยายสาขาและทำการเปิดตลาดในไทยโดยการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถ
 

     “เรามองหาคนที่มี passion ในเรื่องของการศึกษาที่มีความเข้าใจตลาดท้องถิ่นอย่างแท้จริงและมีข้อมูลเชิงลึกในการทำการตลาด โดยแฟรนไชส์ซีนั้นถูกวางหน้าที่ในการขยายธุรกิจในไทย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีศักยภาพในการเปิดศูนย์มากกว่า 1 แห่งในประเทศ มีโมเดลธุรกิจในการนำเสนอการเรียนการสอนของเรา มีความร่วมมือที่ดีกับทางโรงเรียนและมีแผนของการทำกิจกรรมต่างๆที่จะสร้างเสริมให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองมีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น โดยกรุงเทพถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเริ่มต้นการทำธุรกิจของสถาบัน”  






www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ขายดีจนต้องจำกัดการซื้อ! LoafyCo Bakery ขายขนม 2,000 ชิ้นต่อวัน เพราะคนต่อคิวซื้อไม่หยุด

ไม่ง่ายเลยที่ร้านเบเกอรี่เล็กๆ ย่านชานเมืองจะมีคิวแน่นหน้าร้านทุกวัน จนต้องจำกัดจำนวนการซื้อ แต่ LoafyCo Bakery House คือข้อยกเว้นนั้น จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ยอดขายวันละ 1,000-2,000 ชิ้น และรายได้ 4 ล้านต่อเดือน..ทำได้อย่างไร?

“แหนมวาสนา” จากรสมือแม่..สู่แบรนด์อาหารอีสาน ที่มุ่งมั่นพัฒนาส่งต่อวัฒนธรรมอาหารอีสานสู่ครัวโลก

ในทุกคำของแหนมวาสนา ไม่ได้มีแค่รสเปรี้ยวกลมกล่อมของอาหารอีสาน แต่ยังเต็มไปด้วยความรักและความตั้งใจของครอบครัว ที่ส่งต่อจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก นิชา-ณัฐธีรยา ชัยวิสิทธิ์  ที่พลิกโฉมแหนมวาสนาให้กลายเป็นแบรนด์อาหารพื้นถิ่นที่ก้าวสู่เวทีระดับโลก