​แค่กระแสที่ต้องโหน หรือทางรอดของธุรกิจ





 
               
     เมื่อโลกเราหมุนไปไวกว่ากะพริบตา กระแส Change หรือการเปลี่ยนแปลงเข้ามากระแทกธุรกิจปานคลื่นกระทบฝั่งยามพายุเข้า ผลก็คือ เราชาว SME ก็มึนกันไปว่า อันไหนเป็นแค่กระแสที่มาเดี๋ยวเดียวก็ Out แล้ว หรือเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจวิ่งไปหาความรู้ใหม่ๆ มาปรับปรุง เช่น เมื่อตอนกระแส Innovation ที่เข้ามาใหม่ๆ ก็ทำเอาเราเป๋ไปเลย คนเลยบอกว่ามันมาเดี๋ยวก็ไปแต่ปรากฏว่ามันมาแล้วไม่ไป และถ้าใครไม่ปรับธุรกิจและสินค้าให้มี Innovation ก็จะอยู่ยากขึ้นทุกวัน และท้ายที่สุดก็จะอยู่ไม่รอด


     หรือเรื่อง Key Performance Index (KPIs) ตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่ใช้กันทั่วโลกก็กำลังถูกองค์กรสมัยใหม่ อย่าง Google และ Intel รวมทั้งพวก FinTech และ Startup ทั้งหลายเขี่ยทิ้งเพราะมันไม่ตอบโจทย์ที่เขาต้องการ วางไปก็วัดผลไม่ได้ วางแผนปีละครั้งมันไม่ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนเร็ว เลยหันไปใช้ตัวชี้วัดแบบใหม่ที่เรียกว่า Objective and Key Results (OKRs)  ซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่คนเริ่มพูดถึงกันมากว่ามันจะมาแทน KPIs


     มีเรื่องใหม่ๆ อีกมากที่สร้างความสับสน หรือแม้กระทั่งความกลัวให้กับเรา เช่น เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ก็ทำให้แทบทุกวงการต้องรีบมาดูว่าจะนำ AI มาใช้กับองค์กรอย่างไร แต่สำหรับคนอย่างเราๆ นั้น AI ก็ปั่นกระแสความกลัวถูกแทนที่ บ้างว่าคนจะตกงานจำนวนมาก แม้แต่ในวงการนักบัญชี และนักกฎหมายที่ผู้เขียนอยู่ด้วยก็ต้องปรับตัวกันโดยด่วน ก็เจ้า AI ที่สิงคโปร์ดันโชว์ความเจ๋งกว่ามนุษย์ ด้วยการแสดงผลค้นหาคำพิพากษาฎีกาฉบับเก่าๆ ที่นักกฎหมายต้องนำมาอ้างอิงในการทำคดีได้เร็วกว่านักกฎหมาย นึกภาพออกกันเลยใช่ไหมว่า กว่านักกฎหมายต้องมานั่งคีย์คำสำคัญแต่ละคำกว่าจะพิมพ์เสร็จ ในขณะที่เจ้า AI หาเสร็จเรียบร้อยแล้ว นักบัญชีก็เช่นกัน เจอความไวความแม่นของเจ้า AI ก็ต้องปรับกลยุทธ์กันว่า ทำอย่างไรนักบัญชีถึงจะไม่ตกงานเพราะเจ้าปัญญาประดิษฐ์
               

     ผู้เขียนเองคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีมาช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น มนุษย์เราไม่ต้องกลัวเทคโนโลยีใหม่ๆ Block Chain, Big Data หรือ IoT เอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์และปรับบทบาทเราให้เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้วิชาชีพ และธุรกิจเราพัฒนาไปอีก ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้ไปไหนก็เห็นคนใส่นาฬิกาที่ใส่เพื่อเก็บข้อมูลการออกกำลังกาย การเดิน การเผาผลาญของร่างกาย ไปจนวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และการนอน เดี๋ยวนี้เครื่องชั่งน้ำหนักแบบดิจิทัลธรรมดานี่เชยไปแล้ว บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ แม้กระทั่งอดีตยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเบอร์หนึ่งของโลกก็หันมาทำเครื่องชั่งน้ำหนักแบบคนขึ้นไปชั่งนี่รู้ไปถึงข้างในเลยว่า เรามีไขมันสะสมเท่าไหร่ อัตราการเผาผลาญของร่างกายเท่ากับคนอายุเท่าไหร่ มีกล้ามเนื้อในร่างกายเท่าไหร่ เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือเทรนเนอร์กล้ามโตในยิมตกงาน เพราะว่าคนธรรมดาก็เห็นตัวเลขเหล่านี้แล้วก็งงว่ารู้แล้วเราเอาไปทำอะไรได้นะ ตรงนี้แหละที่เทรนเนอร์จะได้เอาข้อมูลพวกนี้มาวางแผนการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และวางแผนสุขภาพให้ลูกค้าได้ ก็เป็นการบริการที่เพิ่มเติมจากการบังคับเราให้ออกกำลังเรียกเหงื่อ การเพิ่มเสริมการบริการให้ลูกค้าด้วยการใช้ข้อมูลจากสิ่งไฮเทคพวกนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องปรับเพื่อความอยู่รอด เชื่อเถอะมันตามเราไม่ทันหรอก เราฉลาดกว่าเพราะเราคิดประดิษฐ์มันขึ้นมา   
               

     สถาบันการศึกษาทุกระดับก็ต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนกันใหญ่ ตอนนี้วาระแห่งโลก คือ 21st Century Skills ที่ว่าด้วยเรื่องการวางระบบการเรียนการสอนใหม่ให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ต้องตอบสนองภาคธุรกิจที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ฝึกหรือสอนนักเรียน นักศึกษาแบบเดิมๆ ชนิดว่าตกงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เพราะไม่มีทักษะที่จำเป็นในการทำงานในเศรษฐกิจของโลกในยุคดิจิทัลนี้ ที่ต้องเพิ่มเติมจากความรู้ในเรื่องที่ปกติเราเรียนกันอยู่แล้ว เช่น เรื่องทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการตัดสินใจ หรือทักษะในด้านการเป็นผู้นำ ลองไปค้นในอินเทอร์เน็ตดูว่าทักษะอะไรบ้างที่เราต้องมีในยุคนี้ น่าสนใจมากว่าทักษะใดที่ต้องมีและถ้าไม่มีตกงานแน่ เจ้าของกิจการก็จะได้วางแผนเลยว่านอกจากจะมีความรู้แบบพื้นฐานที่ต้องมีแล้ว เราอยากให้พนักงานมีทักษะใดเพิ่มเติมที่จะมาช่วยให้กิจการเราเติบโตไปได้ ถ้าเขาไม่มีก็เสริมให้ ยุคนี้ความรู้ใหม่ๆ มีมาก ต้องอย่าขาดการให้ความรู้แก่ขุนพลในองค์กร
               

     เทคโนโลยีที่มาใหม่ๆ ทำให้เราต้องปรับตัว และก็เป็นเรื่องธุรกิจที่เปลี่ยนไป เป็นสมัยที่คนทำงานที่บ้านได้ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมี การค้าขายของออนไลน์มามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้วิถีชีวิตคนยุคนี้เปลี่ยนไป เมื่อก่อนอากงอาม่าในกรุงปักกิ่งก็ออกไปเดินเล่นจิบน้ำชากัน กินติ่มซำตอนเช้าเป็นร้อยๆ พันๆ ปี แต่ยุคนี้เดินถนนเช้าๆ ในปักกิ่งก็ไม่เหมือนเดิม เพราะร้านรวงปิดกันหมดไปขายของออนไลน์กันหมดแล้ว วัฒนธรรมมันเปลี่ยนไปเพราะเรื่องใหม่ๆ ตอนนี้อภิมหายักษ์อย่างอาลีบาบาก็จะมาชุบชีวิตให้การทำธุรกิจแบบเดิม หรือที่เรียกว่า Offline ให้มีการพัฒนาควบคู่ไปกับ Online ที่โตวันโตคืน
               

     โลกนี้หมุนเร็วเกินไปถ้าตามไม่ทันเกมเปลี่ยนไม่ทันการณ์ก็จะไม่รุ่งและไม่รอด ถึงเวลา Change ให้เข้ากับยุคดิจิทัลแล้วเริ่มที่ไหนดี ก็เริ่มจากคำฮิตคำเฮี้ยนที่เริ่มจากการเป็นกระแสจากฝั่งตะวันตกที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ของใหม่ๆ มาเป็นสิ่งสำคัญที่ตอนนี้ไม่ว่าธุรกิจไหน วงการใดจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องทำมันไปใส่ในธุรกิจ ไม่ใช่ คำว่ายุค 4.0 อันนี้ผู้อ่านอาจบอกว่าเบื่อมากเพราะใช้กันเกลื่อนไปหมดเลยจนจืดและเอียน อะไรๆ ก็ 4.0 ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ใช้พร่ำเพรื่อจนเฝือไปขาดความขลัง





     คำฮิต คำเฮี้ยนที่ผู้เขียนหมายถึง ก็คือคำว่า นวัตกรรม หรือ Innovation ที่ตอนนี้กลายเป็นตัวชี้ความเป็นความตายของธุรกิจ ว่ากันง่ายๆ คือใครไม่มีนวัตกรรมก็ไม่รอด มันเฮี้ยนขนาดนั้น เพราะอะไรมันถึงไม่ใช่กระแสแต่เป็นความจำเป็นทางธุรกิจนะหรือ? ก็เพราะว่านวัตกรรมเป็นการที่เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้สินค้าหรือบริการของเราไม่เหมือนใคร เป็นของใหม่ในตลาด การสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น การจัดการบริการแท็กซี่ การส่งอาหาร หรือการสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ นั้นเป็นนวัตกรรม แต่นวัตกรรมไม่ใช่มีแค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงกระบวนการ หรือการสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ หรือสร้างไอเดียใหม่ๆ และนำไปใช้ และการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ก็ล้วนเป็นนวัตกรรมทั้งนั้น


     สำหรับธุรกิจที่อยู่มานานแล้ว อาจจะมองว่าการนำนวัตกรรมมาใส่ในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจมันให้ถ่องแท้ว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น ถ้าเราคิดเองไม่ได้ก็ไปจ้างให้คนช่วยคิด เช่น เขียนโปรแกรมไม่เป็นก็ไปจ้างคนเขียน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าเราจะประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ก็ตาม มันจะต้องสามารถที่จะนำมาใช้ในทางธุรกิจได้ นำมาขายได้ มันจึงจะเป็นนวัตกรรมของธุรกิจ เราทำได้ มาเป็นธุรกิจไทยใส่นวัตกรรมกันเถอะ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน