ใครว่าแค่เรื่องขนมๆ เปิดตำราทำธุรกิจขนมโฮมเมดยังไงให้รุ่ง!







      ธุรกิจขนมโฮมเมด นับเป็นหนึ่งในอาชีพในฝันของใครหลายคน ไม่ว่าจะทำเป็นอาชีพหลัก หรือใครที่เบื่องานประจำทำเป็นอาชีพเสริมอยู่กับบ้าน ภาพตอนอบขนมหอมกรุ่นจากเตา ใส่ผ้ากันเปื้อนลายน่ารักๆ นั่งทำขนม ดูจะเป็นภาพที่มีความสุขดีทีเดียว แต่ความจริงแล้วการจะทำให้ธุรกิจเติบโตสามารถเลี้ยงตัวเองได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไหนจะเรื่องการตลาด เงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด การจัดส่งให้กับลูกค้า ซึ่งยังมีรายละเอียดซ่อนอยู่อีกมากมาย จะว่าไปก็เหมือนกับการทำขนมกว่าจะได้สูตรลงตัวไม่ง่ายเลย

      ดังนั้นวันนี้เรามีตัวอย่างจากเพจขนมโฮมเมดเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า ขนมอิ่มคำสุข’ ซึ่งเริ่มต้นมาจากหญิงสาวคนหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ และหันมาทำธุรกิจขนมโฮมเมดของตัวเอง ลองมาดูกันสิว่าเธอมีวิธีคิดและกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ทำให้ร้านมีลูกค้าแวะเข้ามาใช้บริการอยู่สม่ำเสมอ แม้อาจจะไม่ใช่ร้านมีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก แต่ก็น่าจะพอเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจอยากทำธุรกิจขนมโฮมเมดของตัวเองดูบ้าง






      “เราเป็นเพจทำขนมขายเล็กๆ ทำเองคนเดียว และรับงานฟรีแลนซ์ด้านออร์แกไนซ์ไปด้วย จุดเริ่มต้นมาจากการที่พบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เคยต้องเข้าห้องฉุกเฉินกระทันหันมาแล้ว หลังจากนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากงานและมาเริ่มต้นทำขนม เพราะไม่อยากเครียดอีกแล้ว ฉะนั้นการทำขนมของเราจะไม่หักโหมมาก เราจะเปิดทำเป็นรอบๆ หรือทำตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามา ในปริมาณที่ไม่มากเกินไปกว่าที่กำลังจะทำไหว โดยเพจของเราไม่ได้โปรโมตที่ไหนเลย ลูกค้าที่เข้ามา คือ มาจากการบอกต่อ อนาคตจะขยับขยายเพิ่มขึ้นไหม ยังตอบไม่ได้ แต่ก็จะยังคงยึดแนวทางนี้ คือ โฮมเมดทำเองต่อไป”อรวรรณ เปลี่ยนสุนทร เจ้าของเพจ ‘ขนมอิ่มคำสุข’ เล่าที่มาพร้อมเผยกระบวนการทำงานและแนวทางการทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองไว้ดังต่อไปนี้
 

สร้างคอนเซ็ปต์ มองหาจุดเด่น

      ขนมโฮมเมดที่เราทำขึ้นมานี้ เราวางคอนเซ็ปต์ไว้ว่าจะไม่ได้ทำขนมที่หาทานได้ง่ายทั่วไป แต่จะขายเฉพาะขนมมงคล ขนมที่ใช้มอบให้แก่กันเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ แทนคำขอบคุณ ความรัก ความห่วงใย หรือเทศกาลสำคัญต่างๆ เราจึงตั้งชื่อเพจขึ้นมาว่า ‘ขนมอิ่มคำสุข’ เพราะเราชอบโมเมนต์ตรงนี้ การส่งมอบความสุขให้แก่กันและกัน เราทำขนมก็เพราะอยากมีความสุข จึงอยากทำขนมที่ทำให้คนมีความสุขไปด้วย ทั้งลูกค้าที่มาซื้อขนมหรือผู้ที่ได้รับขนมต่อ ซึ่งนอกจากตัวขนมที่พิเศษแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับแพ็กเกจจิ้งด้วย โดยพยายามคัดเลือกแพ็กเกจจิ้งที่สวย ดูดี เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้มอบเป็นของขวัญได้เลย





หาจุดพอดี ไม่มากไป น้อยไป

      วิธีทำธุรกิจของเรา ด้วยความที่ยังเป็นรายเล็กๆ เราจะไม่ได้ทำขึ้นมาทุกวัน เพื่อเตรียมรอให้ลูกค้ามาซื้อ แต่จะใช้วิธีทำเป็นรอบๆ เช่น ช่วงนี้ใกล้เทศกาลอะไรก็จะลงประกาศในเพจว่าเราจะทำขนมตัวนี้ขึ้นมานะ มีใครสนใจจะสั่งบ้าง หรือบางครั้งหากมีออเดอร์เข้ามา ถ้าตรงกับวันที่เราว่าง ยังไม่มีคิว และปริมาณพอที่จะทำให้ได้ คือ ไม่มากจนเกินกำลัง หรือน้อยจนไม่คุ้ม เราก็จะทำให้ โดยปกติถ้าสั่งเกินกว่าครึ่งเตาอบ เราก็รับแล้ว หรือไม่ก็เปิดประกาศบอกคนอื่นๆ ต่อใครสนใจจะสั่งด้วยไหมเพื่อให้ออเดอร์เต็มเตา

 
ถึงจะเล็ก แต่ก็มีแผนการตลาด

      จากคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้ว่าจะทำแต่ขนมพิเศษที่ไม่ได้หาทานได้ง่ายๆ เราจึงพยายามที่จะคิดทำขนมออกมาให้ได้ครบทั้ง 12 เดือน โดยพยายามอิงกับเทศกาล วันสำคัญต่างๆ ด้วยเพื่อจะได้มีวาระทำใหม่ทุกๆ เดือน เพราะตลอดทั้งปีมันมีเทศกาลต่างๆ ที่เราสามารถหยิบเอามาทำขนม โดยเราจะวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าแต่ละเดือนจะทำตัวไหนออกมาเพื่อให้กับลูกค้าไปมอบให้กับคนที่เขาอยากมอบให้ได้ แต่หลังจากเทศกาลผ่านไปใครอยากสั่งอะไรก็สามารถสั่งได้ในชนิดขนมที่เราเคยทำแล้ว เราเป็นน้องใหม่ก็เลยต้องวางแผนว่าจะเอาอะไรมาขายบ้างให้ได้ตลอดทั้งปี





จัดระบบงานให้ลงตัว บริหารจัดการให้เป็น

      ด้วยความที่ทำเองเล็กๆ ทำได้ทีละไม่เยอะ จึงต้องมีการบริหารจัดการว่า วันนี้จะทำอะไร พรุ่งนี้จะทำอะไร เพื่อให้สามารถทำออเดอร์ได้ทันที่ลูกค้าสั่ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ต้องทำออกมาเยอะๆ เช่น เทศกาลไหว้ขนมพระจันทร์ ซึ่งลูกค้าสั่งกันเข้ามาค่อนข้างเยอะ เราจะล็อกวันไว้เลยว่า วันไหนทำไส้ ก็จะทำเฉพาะแต่ไส้ไปเลย ไส้ไหนที่สามารถทำแล้วเก็บไว้ได้ ไส้ไหนต้องทำเลย วันไหนจะประกอบเป็นรูปเป็นร่าง ก็จะทำแป้งและห่อไส้ไปเลยเป็นวันๆ ไป ยังมีเรื่องของการคำนวณวันให้พอดีกับที่ลูกค้าจะใช้งานอีก โดยขนมของเราจะไม่ทำล่วงหน้าไว้นาน อย่างเคยมีคนมาสั่งทำขนมไหว้พระจันทร์ไว้ล่วงหน้า 2 อาทิตย์ เราก็ไม่ทำให้นะ ทั้งๆ ที่จริงแล้วสามารถเก็บในตู้เย็นได้นานกว่านั้น เพราะอยากให้เขาได้กินในวันที่เหมาะสม คือ ภายใน 7 วัน เพราะยังมีความสดใหม่อยู่ ซึ่งขนมของเราไม่ได้ใส่สารกันบูดใดๆ เลย ฉะนั้นเราต้องค่อนข้างระวังระหว่างช่วงที่เขาเดินทางอุณหภูมิก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว
 

จริงใจต่อลูกค้า

      ถึงจะเป็นร้านเล็กๆ แต่เรามีความจริงใจ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบต่อลูกค้า วัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาทำขนมเราจะใช้ของดี ของที่เราก็กินเอง เวลาเกิดข้อผิดพลาดต่างๆ หากเรามีส่วนร่วมด้วย ก็จะพยายามรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเคยมีกรณีที่เราส่งขนมให้กับลูกค้าเป็นมูลค่าหลายพันบาท แต่เผอิญติดช่วงวันหยุดยาว โดยก่อนหน้านี้เราลองคำนวณแล้วว่าขนมน่าจะสามารถจัดส่งให้ลูกค้าได้ทัน แต่ปรากฏว่าขนส่งไม่สามารถไปส่งได้ทันตามที่กำหนด ขนมก็เลยต้องไปค้างรวมกับพัสดุอื่นๆ ซึ่งเขาอาจไม่ได้จัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้ตอนส่งถึงมือลูกค้าขนมก็เสียแล้ว เรายินดีชดใช้ให้ลูกค้าด้วยทั้งหมด โดยไม่ได้มองเรื่องกำไรขาดทุนสักเท่าไหร่ เพราะอยู่ตรงนี้เรามีความสุข ก็อยากให้เขามีความสุขด้วยที่ได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น





ADD ON :
 
ขนส่ง ปัญหายอดฮิตของคนทำขนมโฮมเมด

      นอกจากเล่าถึงกระบวนการทำงาน และวิธีคิดการทำขนมในรูปแบบของขนมอิ่มคำสุขให้ฟังแล้ว อรวรรณยังได้บอกเล่าถึงปัญหาการขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหายอดฮิตของคนทำขนมโฮมเมด เช่น ไปถึงแล้วขนมเสีย แตกเสียหายบ้าง และวิธีแก้ไขปัญหาในแบบของตัวเองให้ฟังว่า

      “การแก้ปัญหาที่คนส่งลำบากมาก ต้องแก้ที่ตัวเรา อันดับแรก คือ หาวิธีแพ็กให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด อย่างขนมเปี๊ยะและพายฮ่องกงเป็นขนมที่บอบบางสุด ต้องใช้วิธีซีลด้วยถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้มันยังสวยอยู่ เอาไปไหว้ ไปฝากได้ แต่ตอนแกะกินอาจจะลอกนิดนึง ไม่สวย เราก็จะบอกลูกค้าไว้ก่อน เนื่องจากขนมของเราไม่ใส่สารกันบูดอะไรเลย โดยปกติเวลาส่งขนมเราจะจัดส่งภายใน 1 วันเท่านั้น เพื่อป้องกันความสูญเสีย เพราะเราไม่รู้เวลาจัดส่งเขาเอาไปเก็บไว้รวมกับพัสดุอื่นยังไงบ้าง อุณหภูมิห้องเท่าไหร่ ดังนั้นจึงป้องกันไว้ตั้งแต่ต้นทางดีกว่า หรือถ้าลูกค้าอยากได้ขนส่งที่มั่นใจจริงๆ ควบคุมอุณหภูมิได้ เราก็จะจัดส่งกับ SCG แมวดำ ซึ่งมีบริการเฉพาะส่งอาหาร ลูกค้าก็ต้องยอมรับค่าใช้จ่ายตรงนั้น แต่ถ้าจัดส่งปกติเราจะส่งกับเคอรี่บริการจัดส่งแบบ sameday 1 วันถึงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเราก็ต้องคำนวณเวลาดีๆ ไปส่งช่วงเช้า 9-10 โมงต้องไปถึงเคอรี่แล้ว ลูกค้าจะได้รับของประมาณบ่าย 2 - 6 โมง
อีกวิธีหนึ่ง คือ นัดเจอตัว รับตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT, BTS เราจะไม่ได้เก็บค่าบริการใดๆ แต่ต้องตรงเวลาบวกลบไม่เกิน 30 นาที หากเกินเวลาก็จะขออนุญาตตัดไปเป็นวันอื่น หรือเป็นคิวท้ายๆ ไปเลย เพราะหากสายไปคนหนึ่ง ก็จะกระทบกับคิวที่เหลือต้องช้าไปด้วย”


 
Trick เคล็ด (ไม่ลับ) ฉบับโฮมเมด

      "ทุกครั้งก่อนจะทำขนมตัวใหม่ออกมาขายจริง เราจะทดลองทำออกมาก่อน 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นสูตรปกติ และก็ลองสุ่มส่งให้คนที่เป็นลูกค้าเราอุดหนุนกันอยู่ประจำลองชิมดู จากนั้นก็จะรบกวนเขาคอมเมนต์กลับมาให้ว่าลองกินแล้วเป็นยังไงบ้าง หลังจากได้คอมเมนต์ก็นำไปปรับปรุง ครั้งที่ 2 เราจะไม่ส่งคนเดิมจะเปลี่ยนคนส่งใหม่ ซึ่งมันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ คอมเมนต์ลบน้อยลง พอลองจนครบ 3 ครั้งคิดว่าดีที่สุดแล้ว ค่อยทำเป็นสูตรออกมาขาย ซึ่งนอกจากจะได้รสชาติขนมที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแล้ว ยังช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ด้วย เพราะเป็นรสชาติที่เขาเหมือนได้มีส่วนร่วมด้วย ทำให้เขารู้สึกมีความสำคัญ ไม่ใช่สำคัญแค่เฉพาะตอนมาซื้อขนม แต่เรายังให้ความสำคัญให้เขาช่วยคิดช่วยออกแบบด้วย ฉะนั้นพอมีอะไรออกมาใหม่ๆ ก็จะได้รับการตอบรับที่ดีเสมอ ลูกค้าจะคอยลุ้นเลยว่าคอมเมนต์ที่ให้ไปจะมีอยู่ตรงไหนของขนมบ้าง"

      Facebook : kanomimkamsook



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน