โลกถูกใจสิ่งนี้! ไอเดียเปลี่ยนขวดน้ำพลาสติกเป็นผ้าห่อของแบบญี่ปุ่น ใช้จนเบื่อยังรีไซเคิลต่อได้

Text: Neung Cch.





Main Idea
 
  • ต้องใช้เวลาถึงกว่า 400 ปี ในการย่อยสลายถุงพลาสติก การรณรงค์ให้คนหันมาใช้ถุงผ้าเพื่อร่วมลดโลกร้อนจึงได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
 
  • ทว่าแม้จะแก้ปัญหาได้ดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด เมื่อพบว่าต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายจำนวน 7,000 ครั้งถึงจะคุ้มกับการใช้ทรัพยากรในการปลูกฝ้ายจนผลิตมาเป็นถุง
 
  • สาวครีเอทีฟจึงได้ต่อยอดออกแบบผ้าห่อของสไตล์ญี่ปุ่น Furoshiki  ที่ทำมาจากขวดน้ำพลาสติกเหลือทิ้ง พกง่ายกว่าถุงฝ้าย ใช้ได้หลากหลาย ที่สำคัญยังไม่ทำลายโลกอีกด้วย


     นับวันอุณหภูมิโลกยิ่งสูงขึ้น ประเทศคูเวตเผชิญวันที่ร้อนที่สุดในโลกขณะอยู่ในที่ร่มอุณหภูมิแตะที่ 52.2 องศาเซลเซียส แต่หากยืนกลางแดดจะรู้สึกร้อนเหมือน 63 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ยิ่งกว่านั้นมีรายงานใหม่จาก Breakthrough National Centre for Climate Restoration ออสเตรเลีย ระบุว่า มีโอกาสสูงมากที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะนำมาซึ่งจุดจบของอารยธรรมมนุษย์ภายใน 30 ปีข้างหน้า หากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังดำเนินต่อไปเช่นนี้





     ยิ่งได้อ่านข่าวได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทำให้ สิริวรรณ ชิวารักษ์ อดีต Art Director ของบริษัทโฆษณาที่มีโอกาสได้คลุกคลีและรับผิดชอบทำงานในโปรเจ็กต์ CSR ให้กับองค์กรลูกค้า ทำให้เธอรู้สึกถึงปัญหาโลกร้อนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและได้ซึมซับเข้าไปในวิถีชีวิตประจำวันของเธอ


     “เรากลายเป็นคนที่แยกขยะก่อนทิ้ง ส่วนตัวก็พกถุงผ้า แต่บางครั้งซื้อผักที่มีพลาสติกห่อไว้ก็จะนำเอามาล้างตาก จนตอนนี้เก็บไว้เต็มห้องประมาณ 6 กิโลกรัม พยายามผลักดันให้ทางคอนโดมิเนียมเป็นที่รับถุงพลาสติกพวกนี้” เธอเล่า


     จากงานหลักที่ปลุกจิตสำนึกให้สาวครีเอทีฟตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมส่งผลไปถึงงานอดิเรกที่เธออยากออกแบบสินค้าแฟชั่นจึงได้ตั้งคอนเซปต์ไว้ว่าต้องใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในการผลิต ทำให้ได้กระเป๋ากระดาษคราฟต์ แบรนด์ ARTWORK ขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัล Demark หรือ Design Excellence Award ของไทยและรางวัล G Mark จากประเทศญี่ปุ่นในปี 2556 อีกด้วย





     จุดเริ่มต้นของนักออกแบบทำท่าจะไปได้สวย แต่ด้วยภาระงานประจำที่รัดตัวทำให้เธอต้องเว้นวรรคไปช่วงหนึ่ง จนเมื่อตัดสินใจมาเป็นฟรีแลนซ์จึงได้กลับมาจริงจังกับการพัฒนากระเป๋าของตัวเองอีกครั้ง พร้อมกับคงคอนเซปต์เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระเป๋าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอย่างขวดน้ำดื่มพลาสติกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงถูกผลิตขึ้นด้วยความพิเศษของกระเป๋าใบนี้เมื่อใช้งานไปนานๆ สามารถนำกระเป๋ากลับมารีไซเคิลใหม่ให้เป็นเส้นใยจากขวดน้ำพลาสติกผืนใหม่ได้เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นกระเป๋าที่รักษ์โลก ทำให้ผลงานไปเข้าตากรรมการและได้รับในรางวัล DEmark Award อีกครั้งในปี 2561 รวมทั้งรางวัลชนะเลิศ Thailand Green Design Awards:TGDA ในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ปี 2562
               

     ถึงผลงานจะถูกใจกรรมการแต่อาจไม่โดนใจผู้บริโภคเนื่องจากกระบวนการเย็บกระเป๋าจากเส้นใยขวดพลาสติก ทำได้ยากเพราะมันจะลื่นและยืดหยุ่นกว่าการเย็บจากผ้า ส่งผลให้ราคาของกระเป๋าค่อนข้างสูง เมื่อราคาสูงทำให้เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนน้อย อาจไม่ใช่เป้าหมายของแบรนด์ Artwork ที่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม เธอจึงนำบทเรียนที่ได้มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุด คือการทำผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อใช้ห่อของที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Furoshiki ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกหรือถุงผ้าฝ้าย


     ทั้งนี้แม้ปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีการผลิตถุงผ้าออกมาแจกจ่ายให้ประชาชน แต่สิริวรรณย้ำว่า ต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายถึง 7,000 ครั้งจึงจะคุ้มกับการใช้ทรัพยากรทั้งน้ำ ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ในการปลูกฝ้ายจนกลายมาเป็นถุง ส่วนการผลิตผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติกใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตถุงผ้าทั่วไป และน้อยกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับถุงผ้าฝ้าย และดีกว่าถุงผ้าสปันบอนด์ที่ผลิตด้วยเม็ดพลาสติกใหม่ เป็นการช่วยกันลดขยะขวดพลาสติก รวมถึงปัญหากระดาษจากการห่อของขวัญได้อีกด้วย





     “ด้วยข้อจำกัดด้านขนาดทำให้ถุงผ้าใส่ของได้จำกัด แต่ถ้าเราออกแบบให้เป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส นำมาผูกหรือห่อของที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Furoshiki มันก็จะปรับการใช้งานได้หลายรูปแบบ ด้วยขนาดผ้าหนักเพียง 60 กรัม สามารถพกง่าย ใช้คลุมกันหนาว หรือนำไปแต่งห้อง ทำเป็นผ้าปูโต๊ะก็ได้ ผ้ามีคุณสมบัติสะท้อนน้ำด้วยมันก็เลอะยาก ครั้งนี้เราได้นำบทเรียนครั้งก่อนมาปรับทั้งเรื่องกระบวนการเย็บทำให้ง่ายขึ้นเพื่อให้ราคาไม่สูงเกินไป สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น”


     นอกจากช่องทางออนไลน์แล้วเจ้าของแบรนด์ ARTWORK ยังได้ทำการตลาดโดยติดต่อกับออร์แกไนเซอร์เพื่อนำผ้าไปแจกเป็นของชำร่วย นอกจากนี้เธอยังได้มีโอกาสร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิ ECOALF ประเทศสเปน ในโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่จะคืนชีวิตพลาสติกที่ถูกทิ้งแล้วให้กลายเป็นกระเป๋าคาดอกแนวสตรีทแฟชั่น




     “อยากให้ ARTWORK เป็นแบรนด์แฟชั่นที่กลืนกับชีวิตประจำวันคน อยากให้คนเลิกใช้ถุงพลาสติกแล้วมาใช้ของเราแทน เพื่อช่วยกันทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น”
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ