‘Mi Everything’ เจาะแนวคิดสร้างธุรกิจ ‘ทำทุกสิ่ง’ แบบ Xiaomi

Text : Yuwadi.s
 




Main Idea
 
  • เพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่ปี ชื่อของ Xiaomi ก็กลายเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ทำยอดขายติด Top 5 ของโลก เทียบเท่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Samsung
 
  • Xiaomi คือแบรนด์จีนที่กำลังมาแรงแซงทางโค้ง อีกทั้งยังไม่หยุดอยู่แค่การทำสมาร์ทโฟนเท่านั้นแต่ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดไลฟ์สไตล์จนตอนนี้ Xiaomi มีสินค้ามากมายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบเลยทีเดียว




 
                ‘อยากขายทุกสิ่งตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ’


     นี่คือธงในใจของแบรนด์แดนมังกรยักษ์ใหญ่อย่าง Xiaomi ที่เริ่มต้นโด่งดังมาจากสมาร์ทโฟน Mi One ในช่วงปี 2554  ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนราคาไม่แพงแต่ฟังก์ชั่นจัดเต็ม เพียงไม่กี่ปีก็ขยับขึ้นมาเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มียอดขายอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก หลังจากนั้น Xiaomi ก็พัฒนาเทคโนโลยีออกมาไม่หยุดหย่อน แถมช่วงหลังเรายังได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกเสียงว้าวจากแบรนด์นี้ได้มากทีเดียว




     ลองมาเจาะลึกแนวคิดและทำความรู้จัก Xiaomi ที่กำลังจะกลายเป็น Apple แห่งเอเชียไปด้วยกัน


     ผู้ก่อตั้ง Xiaomi คือ Lei Jun เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน เขาจบสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก Wuhan University และใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งจะกลายเป็น Steve Jobs ให้ได้ เขาได้เริ่มทำงานที่ Kingsoft ในตำแหน่งวิศวกร หลังจากนั้นยังเคยก่อตั้งเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์และขายกิจการไปในมูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ จนปี 2553 เขาได้ก่อตั้ง Xiaomi ร่วมกับพาร์ทเนอร์อีก 7 คน ซึ่งแต่ละคนบอกเลยว่าไม่ธรรมดา เรียกว่าเป็นระดับหัวกระทิและเก่งกาจในหลายด้าน จนในที่สุดทีมที่แข็งแกร่งนี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเรื่องของ “บุคลากร” ก็คือหนึ่งในจุดแข็งของ Xiaomi จนถึงทุกวันนี้
 
  • เริ่มต้นจากสมาร์ทโฟนสู่สมาร์ทไลฟ์สไตล์
แน่นอนว่า Xiaomi เริ่มต้นโด่งดังจากสมาร์ทโฟน แต่พวกเขายังไม่หยุดธุรกิจเอาไว้เท่านั้น เพราะพวกเขาต้องการที่จะสร้าง Mi Ecosystem เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และสิ่งที่พวกเขามองเห็นคือโอกาสจากกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเลือกที่จะจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อสร้างสินค้าต่างๆ ขึ้นบนโลก ด้วยการทำงานบนแนวคิดที่ว่า




     ‘คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกด้าน แต่ต้องเลือกคนทำงานด้วยให้ถูกต้อง’



     สำหรับสินค้าที่น่าสนใจของแบรนด์ Xiaomi มีมากมาย ตั้งแต่อุปกรณ์สุขภาพแบบ Smart Wearable อย่าง Mi Band ที่ขายในราคาย่อมเยา โดยรุ่นล่าสุดที่เปิดตัวไปคือ Mi Band 4 ที่ทำยอดขายสูงถึง 1 ล้านเครื่องเพียงแค่ 8 วันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี หูฟัง เครื่องชั่งน้ำหนัก สมาร์ททีวี ไปจนถึงพวกปลั๊กไฟ หม้อหุงข้าว ของใช้ในบ้าน สมาร์ทเฟอร์นิเจอร์ หุ่นยนต์หรือแม้แต่ไขควง กระทั่งสกูตเตอร์ไฟฟ้าก็ยังมี พลังที่อยู่เบื้องหลังข Mi Ecosystem คือความร่วมมือระหว่าง Xiaomi และอีกหลายบริษัทในจีนที่ช่วยกันสร้างสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุม อีกทั้งยังคุ้มค่า ราคาไม่แพง จนทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้สินค้าจาก Xiaomi มากขึ้นในวันนี้
 

  • เข้าถึงผู้บริโภคอย่างถูกกลุ่ม  
     แต่ไม่ใช่ว่า Xiaomi จะได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างล้นหลาม เพราะในบางประเทศยังมองว่า Xiaomi คือตัวก๊อบปี้สไตล์จาก Apple เท่านั้น อย่างในสหรัฐอเมริกาเองที่ไม่ได้เปิดรับแบรนด์จาก Xiaomi เท่าไหร่นัก ฉะนั้น การขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ พวกเขาจึงเริ่มต้นขยายไปยังกลุ่มประเทศที่มีพฤติกรรมใกล้เคียงกับประเทศจีน อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ที่สำคัญ Xiaomi กำลังเข้าไปครองพื้นที่ออนไลน์ในอินเดียโดยเป็น Vendor ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 อีกทั้งยังคืบคลานเข้าสู่ตลาดเอเชียมากขึ้นด้วย


     พวกเขาเน้นการจับกลุ่มลูกค้าออฟไลน์ผ่านร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อว่า Mi Home ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 130 สาขาในจีนและกำลังจะขยายสาขาในจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 แห่งภายใน 3 ปี โดยวางแผนจะพา Mi Home ไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะพุ่งเป้าไปที่อินเดียก่อนประมาณ 100 สาขาภายใน 3 ปี อีกด้วย
 



สรุปแนวคิดสู่ความสำเร็จแบบ Xiaomi
  • มีทีมงานที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่อดีตขุนพลแห่ง Google อดีตหัวหน้าทีมแห่ง Motorola อดีตคณบดีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่ง และอื่นๆ อีกมากมาย 
  • ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกด้านแต่ต้องรู้ว่าควรจับมือกับใคร
  • รู้ว่าผู้บริโภคของตัวเองอยู่ที่ไหนและควรจะเจาะกลุ่มพวกเขาอย่างไร
  • ผลิตของดีในราคาย่อมเยาเพื่อให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้
  • มีสินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คน
 

               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย