“ตราไก่” ไม่ไก่กา ชามเซรามิกที่มีดีตั้งแต่ Story จนถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ที่คนยุคนี้กดไลค์

Text : nimsri





Main Idea
 
  • ลำปาง จังหวัดที่ได้ชื่อว่ามีการผลิตเครื่องเซรามิกขึ้นชื่อของเมืองไทย หนึ่งในนั้น คือ “ชามตราไก่” เครื่องเซรามิกที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน
 
  • ไม่ใช่เพียงลักษณะรูปร่าง ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ยังแฝงไว้ด้วยประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่มาของธุรกิจและงานศิลปะที่น่าสนใจอีกหลายอย่างด้วยกัน



               
     เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมชามเซรามิกสีขาวใบย่อมๆ จากจังหวัดลำปางถึงต้องเป็นรูปไก่? จนกลายเป็นคำเรียกกันติดคุ้นหูว่า “ชามไก่” หรือ “ชามตราไก่” เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดที่ใครผ่านไปมาก็ต้องจดจำได้
               




     ไม่ใช่แต่เพียงเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใครเท่านั้น เรื่องราวความเป็นมาของชามตราไก่ดังกล่าว ยังมีอะไรสนุกๆ ให้น่าค้นหา และน่าสนใจอีกด้วย
               

     เริ่มกันที่ประวัติความเป็นก่อน เล่าสืบต่อกันมาว่าการผลิตชามตราไก่ในจังหวัดลำปางนั้นเริ่มต้นอย่างจริงจังขึ้นเมื่อปี 2500 โดยชาวจีน 2 คนที่อพยพหนีสงครามมา คือ นายซิวกิม แซ่กว็อก และนายซิมหยู แซ่ฉิน ชาวจีนแคะ จากตำบลกอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นวิชาความรู้ที่ได้นำติดตัวมาตั้งแต่อาศัยอยู่ที่เมืองจีน เมื่อได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง ได้เห็นว่ามีแหล่งวัตถุดิบดินสีขาวที่อำเภอแจ้ห่ม ลักษณะคล้ายดินขาวที่เคยทำตอนอยู่เมืองจีน จึงได้ทดลองนำมาผลิตถ้วยชาม และก่อตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นมาในชื่อ “โรงงานร่วมสามัคคี”
               




     โดยการผลิตชามตราไก่ในยุคแรกนั้น ไม่ได้มีลวดลายอย่างที่เราเห็นเป็นเพียงชามสีขาวธรรมดา แต่เพื่อสร้างจุดขายดึงดูดลูกค้า จึงมีการวาดลวดลายเพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งบังเอิญจังหวัดลำปางมีสัญลักษณ์เป็นรูปไก่ อย่างชื่อในตำนานพื้นเมืองบางฉบับก็เรียกลำปางว่า “กุกกุฎนคร” แปลว่า เมืองไก่ จนกลายเป็นที่มาของชามตราไก่นั่นเอง
               

     ซึ่งในยุคแรกเป็นการเผาแบบครั้งเดียว ชามตราไก่ที่ได้ในช่วงนี้ ตัวไก่ที่ได้ออกมาจึงเป็นสีเขียว หางน้ำเงิน ดอกไม้ชมพู ภายหลังเมื่อมีการผลิตชามแบบญี่ปุ่นเข้ามาแทนที่ชามตราไก่ก็เริ่มลดความนิยมลง อีกทั้งสีที่ใช้วาดมีราคาแพง ลายไก่ในยุคหลังที่วาดจึงเปลี่ยนมาเป็นตัวสีชมพู หางน้ำเงิน แซมใบไม้เขียวเข้มแทน
               

     นอกจากลวดลาย ซึ่งมีที่มาเป็นเอกลักษณ์แล้ว รูปร่างลักษณะของชามตราไก่เอง ก็มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจเช่นกัน โดยรูปทรงของชามตราไก่ดังกล่าวในภาษาจีนแต้จิ๋วนั้นเรียกว่า “โกยอั้ว” เป็นชามที่ออกแบบมาให้ถือได้พอดีมือ เหมาะสำหรับการใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวขึ้นมารับประทาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนที่เรามักเห็นในหนังหรือละครย้อนยุคทั่วไป โดยในยุคแรกชามจะมีลักษณะรูปทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลม ปากบาน ด้านนอกมีรอยยุบเล็กน้อยเพื่อให้จับได้ถนัดมือนั่นเอง ภายหลังได้เปลี่ยนจากการผลิตมือที่ใช้บล็อกพิมพ์มาเป็นเครื่องจักรเข้ามาช่วยผลิต จึงมีรูปกลมไม่เหลี่ยม กลายเป็นรูปแบบชามตราไก่อย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้





     โดยปัจจุบันธุรกิจที่มีการนำเอกลักษณ์ของชามตราไก่มาสร้างเป็นธุรกิจโด่งดัง และสานต่อเรื่องราวของชามตราไก่สืบไปก็คือ “ธนบดีเซรามิก” ลูกหลานของซิมหยู แซ่ฉิน ผู้ให้กำเนิดชามตราไก่ในจังหวัดลำปางนั่นเอง ซึ่งนอกจากเป็นเครื่องใช้ธรรมดาในครัวเรือน ยังกลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ใช้ตกแต่งบ้านไปพร้อมๆ กันด้วย
               

     นอกจากในพื้นที่จังหวัดลำปางแล้ว ความจริงจุดเริ่มต้นผลิตชามตราไก่ในเมืองไทย ยังมาจากพื้นที่อื่นด้วย เช่นย่านฝั่งธนบุรี แถววงเวียนใหญ่ และในพื้นที่ปริมณฑลจังหวัดสมุทรสาครเองก็มีการผลิตชามตราไก่เช่นกันที่โรงงานเสถียรภาพ อำเภออ้อมน้อย ในภายหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจึงได้ปิดตัวลง จากนั้นพนักงานเก่าแก่ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญดีอยู่แล้วจึงได้รวมตัวกัน และเปลี่ยนจากวาดลวดลายไก่มาเขียนเป็นถ้วยชามลายครามและเครื่องเบญจรงค์ กลายเป็นที่มาของหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จากมะม่วงกวน สู่ซอสมะม่วงหนึ่งเดียวในไทย ไอเดียคู่รักวัยเกษียณ สร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบท้องถิ่น

ซอสทัย ซอสปรุงรสที่ผลิตจากเนื้อมะม่วงหนึ่งเดียวในไทย ที่ช่วยสร้างสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วง

พาหุรัดดอทคอม ปั้นธุรกิจขายชุดไทยยังไง ให้ขึ้นแท่นเป็นร้านตัวท็อป

จากรุ่นคุณทวด ถึงทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ซึ่งบุกเบิกตลาดออนไลน์ ในวันที่ใครๆ ก็ไม่คุ้น แต่ทำไม? พาหุรัดดอทคอม ถึงสามารถก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในนามของเว็บไซต์ร้านขายชุดไทยสำเร็จรูปมาได้อย่างยาวนาน

ไม่ต้องเริ่มใหญ่แค่ “เข้าใจปัญหา” ข้าวดินดี และ Hair Rise 2 แบรนด์ไทยที่ใช้นวัตกรรมสร้างรายได้ 8 หลัก

2 SME ไทยคือ ข้าวดินดี เจ้าของพาสต้าถั่วเขียวออร์แกนิค และ พีทูเอ อินโนเวชั่น Hair Rise สเปรย์ป้องกันผมร่วง สะท้อนว่าไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ มีเงินทุนล้นมือ ถึงจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทั้งตอบโจทย์ตลาดและช่วยพัฒนาสังคมไปพร้อมกันได้