เมื่อโลกส่งคำท้าให้ SME รับมือความเปลี่ยนแปลงด้วยแนวคิด ‘ยั่งยืน’




Main Idea

 
  • วันนี้ลูกค้าจับจ้องพฤติกรรมของธุรกิจมากขึ้น คนรุ่นใหม่เรียกร้องสินค้าและบริการที่ดีที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็เลือกทำงานกับซัพพลายเออร์น้ำดี นั่นคือเหตุผลที่ SME จะทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้
 
  • หาก SME ยังทำธุรกิจโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อโลก ไม่คำนึงถึงผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่เรียนรู้แนวคิดเรื่องความยั่งยืน กิจการที่สร้างมาอย่างตั้งใจก็อาจสูญสลายไปในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้   




     ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดในโลกยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์ท้าทายที่ถูกโยนกลับมาหาผู้ประกอบการ SME ไทย ทำอย่างไรธุรกิจถึงจะยังอยู่รอด และสตรองได้ในวันข้างหน้า จะต้องทำธุรกิจแบบไหนผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ถึงยังให้การต้อนรับขับสู้ สังคมยังสนับสนุน ไม่ต้องล้มหายตายจากไปหรือตกเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้บริโภคยุคนี้
               
     
     หนึ่งในแนวคิดที่ถูกพูดถึงกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ Sustainability หรือความยั่งยืน ซึ่ง SME อาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และยังมีความเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นอาวุธทรงพลังให้ธุรกิจยังอยู่รอดได้ในโลกยุคหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้คือ ลูกค้าจับจ้องพฤติกรรมของธุรกิจมากขึ้น คนรุ่นใหม่เรียกร้องต้องการสินค้าและบริการที่ดีที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็เฟ้นหาซัพพลายเออร์น้ำดีให้เข้ามาร่วมในวงจรธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ถามว่าถ้า SME ยังทำธุรกิจโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อโลก ไม่คำนึงถึงผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่เรียนรู้แนวคิดเรื่องความยั่งยืน กิจการที่สร้างมาอย่างตั้งใจก็อาจสูญสลายไปในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้    
        


         

     สร้างความยั่งยืนเสริมแกร่งธุรกิจ B2B


      ชนิต สุวรรณพรินทร์ กรรมการบริษัท บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) อดีตบริษัท SME ที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อปี 2558 พวกเขาทำธุรกิจจัดหา ผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ และสินค้าไลฟสไตล์ ให้กับพันธมิตรธุรกิจในลักษณะ B2B ที่คุ้นตากันดีก็คือเครื่องดื่มในโถกดของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
               

     ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ พวกเขาเคยพยายามหาคำตอบว่า ทำอย่างไรธุรกิจถึงจะคงอยู่ไปอีก 20-30 ปี โดยไม่ล่มสลายไปง่ายๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกวันนี้ จนได้คำตอบว่าหัวใจหลักคือธุรกิจต้องมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีฝ่ายบริหารงานบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ซึ่งรู้เรื่องของลูกค้า การตลาด และ   อินไซท์ (Insight ) ของผู้บริโภค อีกหัวใจสำคัญคือการทำเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability Growth) จึงได้นำแนวคิดเรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืนเข้ามาปรับใช้กับองค์กร ด้วยกลยุทธ์ที่ชื่อ 5Ps นั่นคือ Profit  สร้างยอดขายที่ทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย  People ดำเนินงานตามค่านิยมขององค์กร   Portfolio สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทั้ง B2B และ B2C เช่น การพัฒนาสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ Partner สร้างความไว้วางใจและเติบโตไปพร้อมกับคู่ค้า และ Planet ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม  
               

     การปรับตัวที่รวดเร็วทำให้พร้อมรับมือเมื่อวันที่พาร์ทเนอร์รายใหญ่อย่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ส่งแบบประเมินตนเองสำหรับคู่ค้าด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Supplier Self-Assessment for Sustainable Sourcing) มาให้กับพวกเขา สะท้อนถึงการขยับตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ที่หันมาพิจารณาซัพพลายเชนของตัวเองตลอดห่วงโซ่ ว่าต้องเป็นธุรกิจน้ำดี ไม่ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการจ้างงานที่เป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ฯลฯ เหล่านี้มากขึ้น
               

     “สมัยก่อนเราอาจเจอจัดซื้อที่บอกว่า ลดราคาลงอีก ทำให้ดีให้ทน ถูก ตรงเวลา ถ้าไม่ตรงเวลาก็จะถูกปรับ ถ้าไม่ถูกไม่เอา จึงทำให้เป็นเรื่องยากมากที่เราจะทำธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยกัน แต่วันนี้มันเริ่มเป็นเรื่องของแฟร์เทรด คือถ้าฝ่ายขายให้ราคาเราเพียงพอ ให้เราสามารถไปซื้อหาสิ่งต่างๆ ที่ดีในราคายุติธรรมได้ สิ่งเหล่านั้นก็จะสะท้อนกลับไปให้บุคคลต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง ให้เขาสามารถส่งลูกหลานเรียนหนังสือ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในชุมชน นี่จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับอนาคต วันนี้ฟ้าเริ่มเปิดแล้วสำหรับเรา เพราะลูกค้าเข้าใจแล้วว่า Sustainability เป็นอย่างไร”
               

     ชนิต บอกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ และส่งอนิงสงห์ให้กับ ที.เอ.ซี. ที่ปรับตัวในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ความยั่งยืนเลยกลายเป็นแต้มต่อและโอกาส ที่ช่วยให้ธุรกิจยังเป็นตัวเลือกของคู่ค้ารายใหญ่ ที่อยากเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับพวกเขา
 
               



     ผู้บริโภคยุคใหม่เรียกร้องสินค้าที่ดีต่อโลก


     แรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการยุคนี้ ต้องตระหนักถึงการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น คือพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตระหนักถึงสังคม และเรียกร้องให้แบรนด์รับผิดชอบต่อโลกใบนี้ของพวกเขาด้วย


     “ในอดีตผู้บริโภคอาจจะยังมีคำถามว่าการที่แบรนด์ทำเรื่องความยั่งยืนจะทำให้ของดีขึ้นหรือเปล่า ราคาจะแพงขึ้นไหม แต่วันนี้คนเจเนอเรชั่นใหม่เห็นชัดเลยว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และบอกด้วยซ้ำไปว่าคนอายุ 30 กว่าอย่างพวกเราไปทำร้ายโลกไว้เยอะมาก จนส่งผลเสียไปให้กับเขา วันนี้เขายอมที่จะจ่ายแพงขึ้นให้กับสินค้าและบริการที่ดูแลโลก เพราะเห็นแล้วว่ามันมีผลเสียจริง ในอนาคตลูกค้ากลุ่มใหม่จะตระหนักเรื่องนี้อย่างชัดเจน ฉะนั้นถ้าท่านยังไม่ปรับตัว ยังทำธุรกิจแบบเดิมๆ ก็อาจจะสูญเสียลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไปอีกเยอะมากในอนาคต”


       ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอกย้ำความสำคัญของการที่ธุรกิจยุคนี้ต้องตระหนักถึงการเป็นธุรกิจน้ำดีที่รับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยน และไม่เพิกเฉยให้กับการกระทำของแบรนด์อีกต่อไป
                               
 


     ไม่เกี่ยวกับไซส์ธุรกิจ แค่มีใจก็เปลี่ยนโลกได้



     วันนี้ SME หลายรายให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น โดย พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิดคิด จำกัด บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่อยากทำเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม และรับออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม บอกเราว่า พวกเขามีจุดยืนชัดเจนว่า อยากทำธุรกิจที่นอกจากจะได้เงินแล้วยังช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย นี่กลายเป็นโจทย์ที่นำมาพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ในเวลาต่อมา โดยพวกเขาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่างๆ ที่อยากทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์วิชั่นของธุรกิจ และเป็นประโยชน์กับสังคมอย่างแท้จริง เคยเปิดร้าน Eco shop และรับออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยหลักการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) หรือกระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ให้ความสำคัญกับเรื่องการลดต้นทุนเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ และที่สำคัญยังพัฒนาให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันอีกด้วย
               

     ในวันนี้ธุรกิจเล็กๆ ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนขององค์กรต่างๆ ที่อยากเห็นสังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ล่าสุดพวกเขายังพัฒนาแอปพลิเคชั่น ECOLIFE และต่อยอดไปสู่ LiFE for Corporate เพื่อให้เรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมและการทำความดีเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนและพนักงานองค์กร ด้วยแอปฯ ที่จะเปลี่ยนการทำดีให้เป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นไอจี ที่ทุกคนเข้ามาส่วนร่วมได้
               

     ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์นักการตลาดแสดงความเห็นปิดท้ายให้ฟังว่า การเป็นคนดีต่อสังคมและโลกไม่ว่าจะบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ทำได้ทั้งนั้น โดยสามารถเริ่มทำจากเล็กๆ ภายในองค์กร ก่อนขยายผลออกไปในวงกว้างต่อไป


       “ถามว่าธุรกิจเล็กๆ อย่าง SME จะเริ่มอย่างไรดี ก็ให้เริ่มจากข้างในก่อน โดยการให้ความเป็นธรรมกับคนในบริษัทของเรา จ้างคนโดยไม่เอาเปรียบเขา ให้ความเป็นธรรมกับเขา ยังไม่ต้องถึงขั้นไปทำดีเพื่อสังคมอะไรเริ่มจากข้างในนี่แหล่ะ วัตถุดิบที่ท่านใช้เพื่อที่จะทำสินค้าหรือบริการไปให้กับลูกค้าท่านเลือกของดีหรือเปล่า หรือว่าไปซื้อของใกล้จะหมดอายุ เอาของที่คุณภาพไม่ดีมาทำให้กับผู้บริโภคหรือเปล่า แล้วตอนที่ซื้อวัตถุดิบนั้นซื้อมาอย่างเป็นธรรมหรือไปกดราคาคู่ค้าจนเขาอยู่ไม่ได้ เราก็ดีใจว่าเราได้เงินได้กำไรแต่สุดท้ายเขาอยู่ไม่ได้เราก็หาคู่ค้าไม่ได้อยู่ดี ฉะนั้นถ้าท่านเป็นองค์กรขนาดเล็กก็ให้เริ่มทำแบบนี้
               

      “เรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องทางจิตใจ พูดง่ายๆ สำหรับ SME การทำสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ช่วยให้คุณร่ำรวยขึ้นมาชัดเจนหรอก แต่ตื่นมาอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าวันนี้จะได้เงินไหม มันเป็นความสุขใจที่จะตื่นมาในทุกๆ วันอย่างสบายใจ ผู้ประกอบการหลายคนอาจคิดว่าเงินมีความสำคัญ แต่จริงๆ แล้ว เงินกับสุขสำคัญทั้งคู่ ดังนั้นอย่ามัวแต่หาเงินให้หาสุขด้วย สุขก็คือการตื่นขึ้นมาเรารู้สึกว่าเราไม่เคยเอาเปรียบใคร เราสบายใจ ก็เป็นวิธีคิดง่ายๆ และไม่ได้เป็นเรื่องยากที่จะลงมือทำ” 


      ดร. เอกก์ บอกอีกว่า เมื่อคนทำธุรกิจคิดดีทำดี มีความสุข ก็จะส่งความสุขนั้นไปยังลูกค้า ซึ่งผลลัพธ์ที่จะย้อนกลับมา ก็คือธุรกิจที่จะเติบโตขึ้น ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มผู้บริโภคที่มากขึ้น กิจการก็จะยั่งยืนขึ้นแม้ต้องผ่านอุปสรรคที่หนักหนาแค่ไหนก็ตาม ฉะนั้นแนวคิด Sustainability จึงเป็นคำตอบที่ทำให้ธุรกิจวันนี้ แข็งแรง ยั่งยืน และคนทำก็มีความสุขด้วย


     SME ที่อยากเห็นธุรกิจของตัวเองเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน และตื่นขึ้นมาอย่างมีความสุขในทุกเช้า แนวคิด Sustainability ก็เป็นอีกคำตอบที่ช่วยได้
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย