อาทิตย์ จันทร์นนทชัย สร้างธุรกิจจากการเป็นเกษตรกรวันหยุด มนุษย์เงินเดือนวันธรรมดา




Main Idea
 
  • “อาทิตย์ จันทร์นนทชัย” คือตัวแทนของมนุษย์เงินเดือน ที่เลือกใช้เวลาวันหยุดของตัวเองไปอยู่ในโลกอีกใบที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันโดยสิ้นเชิง เขาเลือกไปเป็นเกษตรกร เพราะสนใจด้านการเกษตร และมีแนวคิดที่อยากจะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้เติบโตไปด้วยกัน
 
  • จากความมุ่งมั่นนั้นเองที่นำมาสู่ FARM•TO (ฟาร์มโตะ) แพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกรที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับลูกค้าเข้าด้วยกัน ด้วยระบบการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ไปทำความรู้จักเขาคนนี้กัน

 


     เพราะความฝันที่แตกต่าง ทำให้คนเราเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างกัน แต่หากยังไม่หยุดฝัน แล้วเลือกที่จะลงมือทำ ไม่ว่าฝันนั้นจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็เป็นจริงขึ้นมาได้
               

     เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่ทำงานด้านการออกแบบ เขาเลือกใช้เวลาวันหยุดของตัวเองไปอยู่ในโลกอีกใบ โลกใบใหม่ที่แตกต่างจากโลกในชีวิตประจำวันโดยสิ้นเชิง คนหนุ่มเลือกไปเป็นเกษตรกร


     วันนี้โลกในวันหยุดของเขา กลายเป็นธุรกิจธุรกิจหนึ่งที่ไม่ได้ทำแค่เพื่อตัวเอง หรือกำไรในเชิงธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่กำลังเปลี่ยนโลกทั้งใบของเกษตร คนซื้อ และคนขาย ให้แตกต่างไปจากเดิม



               

     เรากำลังพูดถึง  “อาทิตย์ จันทร์นนทชัย” หนึ่งในหุ้นส่วน FARM•TO (ฟาร์มโตะ) แพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกรที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับลูกค้าเข้าด้วยกัน ด้วยระบบการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
               

     อาทิตย์เล่าว่า วันธรรมดาเขาคือหนุ่มออฟฟิศ พอถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ไปเป็นเกษตรกรที่จังหวัดปทุมธานี โดยเรียนรู้การทำเกษตรจากพ่อแม่และเพื่อนๆ ที่เป็นกลุ่มแก๊งค์วัยเกษียณ เขาเริ่มจากซื้อที่นา โดยใช้แปลงนาบนพื้นที่ 4 ไร่เป็นห้องเรียนทำนาข้าวออร์แกนิกและเกษตรผสมผสาน


     คนเมืองบางคนอาจเลือกทำเกษตรแค่เพราะความชอบ อยากชิลล์ เหมือนหนังสือโลกสวยที่เคยอ่าน แต่กับอาทิตย์ แพสชั่นของเขามันไปไกลกว่านั้น เขาสนใจด้านเกษตรกรรม และมีแนวคิดที่อยากจะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตไปด้วยกัน สร้างโอกาสและอนาคตให้กับคนทำเกษตร สนับสนุนผู้ปลูกเกษตรอินทรีย์ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม และสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้จริงบนโลกนี้





     อาทิตย์เริ่มจากทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยใช้ชื่อ “บ้านฉันออร์แกนิค” เล่าถึงนาข้าวของตัวเองและคุณอา ตอนนั้นเขาทำนา 2-3 ไร่ บวกกับนาของอาอีก 1 ไร่ ก็เริ่มทดลองให้คนมาร่วมเป็นเจ้าของ ด้วยการจองผลผลิตล่วงหน้าตั้งแต่ข้าวยังไม่ปลูก และมานัดวันหว่าน เล่าเรื่องเพาะกล้า ดำนา เก็บเกี่ยว ระหว่างทางก็เล่าเรื่องโรคและแมลง บอกให้รู้ว่าเป็นอินทรีย์อย่างไร


     จากจุดเล็กๆ จุดนั้น กลายเป็นฝันก้อนที่แข็งแรงและชัดเจนขึ้น เมื่อมีเพื่อนอีกสองชีวิตที่สนใจในเรื่องเดียวกันมาร่วมเติมเต็มความฝันให้เป็นธุรกิจจริง โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา นั่นคือที่มาของฟาร์มโตะ แพลตฟอร์มจับคู่เกษตรกรและผู้บริโภคให้อยู่ในโลกใบเดียวกัน โดยมี Brand Passion ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาสและอนาคตให้กับเกษตรกร รวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนให้เกิดขึ้นจริง





     ฟาร์มโตะ เกิดขึ้นจากต้นทุนความตั้งใจมากกว่าเงินทุน แต่ธุรกิจจะอยู่ได้ก็ต้องใช้เงินทุนในการขับเคลื่อน พวกเขาเริ่มจากใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบของแต่ละคนมาเริ่มต้นธุรกิจ จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เวทีประกวด และมีเงินรางวัลมาช่วยเกื้อหนุนธุรกิจให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ โดยงานประกวดแรกได้เงินรางวัล 1,500,000 บาท และเป็นมูลค่ารางวัลสูงสุดที่เคยได้รับ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเดินสายประกวดในหลายเวที และคว้ามาได้ถึง 8-9 รางวัล


     แต่การล่ารางวัลไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจ เพราะสิ่งที่คาดหวัง คือทำให้โมเดลนี้อยู่อย่างยั่งยืนได้ นั่นคือที่มาของการมามุ่งพัฒนากับฟาร์มโตะอย่างเต็มที่ ทำในสิ่งที่ควบคุมได้ ทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่งคง พร้อมๆ กับค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคและเกษตรกร จนก่อเกิดเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันที่คนปลูกและคนกินได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ตั้งราคาขายผลผลิตด้วยตัวเอง ได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง ขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้ความมั่นใจในคุณภาพที่สดใหม่เพราะร่วมดูแลและเห็นการเจริญเติบโตไปจนถึงได้รับผลผลิต





     หนึ่งความน่ารักที่ใครหลายคนคงรู้สึกเหมือนกัน นั่นคือการที่เกษตรกรจะส่งภาพผลผลิตจากฟาร์มมาให้ผู้ซื้อดูอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับมีป้ายชื่อผู้จองปักไว้ ไม่ได้แค่ประกาศความเป็นเจ้าของ แต่คือการได้ร่วมติดตามผลผลิตที่ค่อยๆ เจริญเติบโตและงอกงามในแต่ละช่วงเวลาไปด้วยกัน แม้ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เอง แต่จะได้เห็นภาพความประทับใจนี้ไปพร้อมกับเกษตรกรผู้ปลูกผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์
               

     จากจุดเริ่มต้นที่มีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 10 ราย หลังเปิดใช้แพลตฟอร์มในปีแรก พบว่ามีเกษตรกร 1,000 รายที่ทดลองใช้ และคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้ามาถึง 1,500 ราย ส่วนยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมี 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าจริงประมาณครึ่งหนึ่ง และมีแฟนเพจเพิ่มขึ้นราว 15,000 คน


     แม้รายได้ในธุรกิจนี้ไม่ได้หวือหวาเหมือนกับหลายธุรกิจ แต่ความสำเร็จที่มีค่าไปกว่าตัวเงิน ก็คือการได้ทำตามความฝันและความมุ่งมั่นที่เคยมี ได้พิสูจน์ตัวเอง และลงมือทำ  ซึ่งผลของความสำเร็จไม่ได้มีให้แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนมีส่วนร่วมกับความสำเร็จนี้
                 


               
 
Did you know
 
  • อาทิตย์ คือเกษตรกรในวันหยุด วันธรรมดาเขายังคงทำงานประจำด้านการออกแบบ
 
  • อาทิตย์เปิดเพจเฟซบุ๊กแรกเมื่อกว่า 4 ปีก่อน ในชื่อ “บ้านฉันออร์แกนิค”
 
  • การทำแอปพลิเคชั่น การซื้อสื่อโฆษณาทั้งเพื่อโปรโมทเพจและเว็บไซต์ใช้เงินลงทุนสูง เมื่อไม่มีทุนจึงต้องเดินสายประกวดเพื่อหาเงินมาสนับสนุน โดยกว่าสองปีที่ผ่านมาฟาร์มโตะได้รับรางวัลจากการประกวด 8-9 รางวัล
 
  • จุดเริ่มต้น FARMTO มีเกษตรกรเพียง 10 ราย
 
  • กาแฟป่า คือสินค้าขายดีอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ ชาป่า น้ำผึ้งป่า อโวคาโด ลูกพลับ โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เข้าร่วมจำหน่ายเกือบ 100 รายการ
 
  • เกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในฟาร์มโตะส่วนใหญ่จะเป็นผู้สานต่อธุรกิจ หรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำเกษตร
 
  • กลุ่มเกษตรกรของฟาร์มโตะ หลักๆ อยู่ในภาคเหนือและภาคกลาง
 
  • เกษตรกรที่เข้าร่วมฟาร์มโตะต้องสร้างแบรนด์สินค้า เพราะฟาร์มโตะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนและเพื่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของแบรนด์ไม่ใช่แค่ผู้ปลูก
 
  • กลุ่มผู้บริโภค (ลูกค้า) หลักอยู่ใน กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่
 
  • รายได้ของฟาร์มโตะส่วนหนึ่งมาจากการประกวด และจากราคาสินค้าที่บวกเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์
 
  • 3 โครงการของฟาร์มโตะ 1. ขายสินค้าล่วงหน้าเป็นรายปี 2.เป็นมาร์เกตเพลสสั่งสินค้าพร้อมส่งทันที และ 3.ออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยว+กิจกรรมร่วมกับชุมชนและเกษตรกร เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการเยี่ยมชมและพักค้าง         
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน