‘หนูเล็กเบญจรงค์’ 60 ปีบนเส้นทางแห่งเบญจรงค์ ภูมิปัญญาเลอค่าแห่งดอนไก่ดี



 
Main Idea
 
  • ถ้าคุณใช้เวลากับอะไรเกินครึ่งชีวิต คุณคงมีความรักเป็นแรงขับเคลื่อนแน่แท้ และ “หนูเล็ก” หรือ ประภาศรี พงษ์เมธา ผู้ก่อตั้งหนูเล็กเบญจรงค์ในชุมชนดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาครที่ได้คลุกคลีกับเบญจรงค์ตั้งแต่ตอนป. 4 ก็ได้ตกหลุมรักความสวยงามของเบญจรงค์ตั้งแต่แรกพบ
 
 
  • จุดสำคัญที่ทำให้หนูเล็กเบญจรงค์มีความแตกต่าง คือ ความไม่หยุดนิ่งที่มีการคิดค้น พัฒนา สร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ มาอยู่บนเบญจรงค์ของเธออยู่เสมอ

 
 
‘เหมือนตกหลุมรักแรกพบ เราคิดแต่แรกเลยว่ามันสวยมาก’
 
     ประภาศรี พงษ์เมธา เจ้าของผลิตภัณฑ์หนูเล็กเบญจรงค์แห่งดอนไก่ดี ได้เล่าความรู้สึกของเธอที่เหมือนตกหลุมรักลวดลายเบญจรงค์ตั้งแต่แรกเห็นเมื่อครั้งที่เธอยังอายุแค่ 10 ขวบหรือประมาณป. 4 โดยประภาศรีเล่าว่าเธอเข้าทำงานที่โรงงานเสถียรภาพตั้งแต่ยังเด็ก ในสมัยนั้นโรงงานเสถียรภาพเป็น 1 ใน 2 โรงงานขนาดใหญ่ย่านอ้อมน้อยที่รองรับคนงานได้มากถึง 2,000 คนและเธอ คือ หนึ่งในนั้น 





     “ตั้งแต่จบป.4 ก็ไม่ได้ไปไหน เข้าโรงงานเลย ตอนนั้นเข้าไปทำเป็นแผนกจานชาม เทแบบ หล่อน้ำดิน แล้วเจ้าของโรงงานเขาเป็นคนมีต้นทุนดี ความคิดดี เขาได้สร้างห้องเบญจรงค์แล้วจ้างอาจารย์จากเมืองจีนและอาจารย์ไทยจากกรมศิลปากรมาสอน พอดีเราได้เห็นห้องเบญจรงค์ก็รู้สึกว่ามันสวยมาก เลยขอลาออกจากแผนกจานชามแล้วย้ายไปอยู่ตรงนั้น เข้าไปนั่งเขียนลาย ลงสี ความรู้สึก คือ มันเท่มาก”




     จนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของโรงงานเสถียรภาพที่ต้องปิดตัวเองลงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา คนงานกว่าพันชีวิตถูกลอยแพกลางอากาศ ประภาศรีเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ความโชคดีของเธอ คือ ความรู้ด้านการทำเบญจรงค์ที่ฝึกฝน ขัดเกลาฝีมือจนเชี่ยวชาญมากว่า 20 ปีที่อยู่ในโรงงานเสถียรภาพกลายเป็นหนทางสว่างต่อยอดให้เธอก้าวต่อไปในอนาคต 


    “โรงงานเสถียรภาพปิดตัวลง เราไม่มีงานทำ เคว้งคว้างเลยตอนนั้น พอเราออกจากงานก็มานั่งคิดว่าจะทำอะไรดี ตอนนั้นพ่อพี่อยู่บ้านนอก เขาเห็นว่าเรามีฝีมือเลยตามกลับมาทำเบญจรงค์ที่บ้าน เริ่มจากไม่มีอะไรเลย ทำกันแค่สองคน ต่อมาก็ขยายทำกันเองในครอบครัว ฝึกลูก ฝึกหลาน แล้วก็ขยายออกไปในพื้นที่ ชวนคนตกงานมาทำด้วยกันเป็นร้อยคนเลย ในชุมชนเขาก็ดีใจ ไม่ต้องออกไปทำงานไกล ไม่เสียค่ารถ ค่าน้ำมัน มารับงานไปทำที่บ้านก็ได้ เราก็ให้ค่าตอบแทนเขาตามฝีมือ ตามผลงาน ตามความยากง่าย”




     จุดสำคัญที่ทำให้หนูเล็กเบญจรงค์มีความแตกต่าง คือ ความไม่หยุดนิ่งของประภาศรีที่มีการคิดค้นพัฒนา สร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ มาอยู่บนเบญจรงค์ของเธออยู่เสมอ ที่สำคัญเธอยังมีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ลูกค้าระดับล่าง ระดับกลางไปจนถึงระดับบน ตลอดจนลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงลูกค้าองค์กร ห้างร้านและหน่วยงานต่างๆ 


     “30 กว่าปีของเราที่ทำเอง จากลวดลายไม่เยอะ รูปแบบผลิตภัณฑ์ไม่มาก เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ มีแบบแปลกๆ ลวดลายใหม่ๆ ต้องปรับกันตลอดเวลา เราต้องมีอะไรที่ไม่ซ้ำให้ลูกค้า เรามีทั้งลายเก่าแก่ดั้งเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือ พยายามดัดแปลงให้ได้ลวดลายใหม่ๆ เช่น องค์กรส่วนพื้นที่มีการจ้างอาจารย์มาออกแบบให้ได้เป็นลายปลาทอง นอกจากนี้ยังมีลายสีสันฤดูร้อน กุ้ง หอย ปู ปลา ถือเป็นลายประจำจังหวัดสมุทรสาคร งานของเราใช้ทองเต็ม เราเน้นความซื่อสัตย์ ไม่หลอกลวงลูกค้า ที่สำคัญต้องมีอัธยาศัยดี แล้วเราก็ไม่ได้บอกราคาสูงลิ่ว เราเอาที่เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ เลยมีลูกค้าประจำเยอะ”




     สำหรับใครหลายคนเบญจรงค์อาจเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของไทยที่มีความสวยงามทั้งลวดลายและสีสัน แต่คำว่าเบญจรงค์ในมุมมองของประภาศรีที่อยู่กับเบญจรงค์มาค่อนชีวิต เบญจรงค์ คือ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ 


    “เบญจรงค์มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีเรื่องราว แต่สำหรับเรา เบญจรงค์ คือ ความภาคภูมิใจ เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะล้มลุกคลุกคลานเราก็ทำ เรารักมันแล้ว ใครมาชื่นชมงานฝีมือภูมิปัญญาของเรา เราก็ดีใจ จากที่เราไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย ตอนนี้คนที่จบปริญญาก็ยังต้องมาเรียนรู้กับเรา เขายกย่องให้เราเป็นคนสอนเขา มันคือสิ่งที่ดีในชีวิต ช่วยหล่อเลี้ยงเราตั้งแต่ออกจากโรงงานเสถียรภาพ เราเห็นปุ๊ปก็ชอบเลย ตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ มันคือ หัวจิตหัวใจ ช่วยเลี้ยงชาวบ้าน เลี้ยงคนได้ตั้งเยอะเลย เราไม่หนีไปไหนแล้ว”




     โดยประภาศรีได้ปิดท้ายถึงหัวใจของความสำเร็จที่ทำให้เธอและเบญจรงค์อยู่คู่เคียงกันมาได้มากกว่า 60 ปี 
“ใจต้องรักสุดๆ มันก็จะอยู่ในหัวใจของเรา ไม่เคยคิดทิ้งอาชีพนี้ พยายามดิ้นรน ขวนขวาย หาสิ่งใหม่ สร้างลวดลายใหม่ๆ ที่จะเขียนลงไป ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เราต้องวาดให้เก่ง ไม่เคยหยุดนิ่งเลย บางคนที่ทำอาจจะเบื่อไปแล้ว แต่เรายังดิ้นรน ยิ่งมีคนเข้ามาเยี่ยมชมแล้วบอกว่าเบญจรงค์ของเราสวย เรายิ่งภูมิใจ”



 
     หากคุณใช้เวลากับสิ่งไหนเกินครึ่งชีวิต คุณคงมีความรักเป็นแรงขับเคลื่อน เหมือนประภาศรีที่รักเบญจรงค์ตั้งแต่แรกพบ และความรักนั้นก็แปรเปลี่ยนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ “หนูเล็ก เบญจรงค์” กลายเป็นแบรนด์เบญจรงค์แห่งดอนไก่ดีที่ใครๆ ก็หลงรัก
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย