“อิ่มจัง” ตามสั่งในซอย ที่ยกตัวเองสู่ออนไลน์ จนยอดขายโตพุ่ง! 300 กล่องต่อวัน



Main Idea

 
  • “อิ่มจัง” ร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ ในซอยจุฬาลงกรณ์ 50 ที่พลิกวิธีคิด จากขายแค่หน้าร้าน เพิ่มบริการขายส่งดิลิเวอรีเข้ามา ทำให้ยอดขายพุ่งกว่าวันละร้อยกว่าจาน เป็น 200 – 300 ออร์เดอร์ต่อวัน
 
  • อะไร ทำให้ร้านตามสั่งเล็กๆ แห่งนี้กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของตัวเอง แล้วเขาต้องเตรียมรับมืออย่างไร ไปติดตามพร้อมๆ กัน


 
               
     ในยุคเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ จะขยับตัวทำอะไรแต่ละทีก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ทางไหนที่พอเอาตัวรอดได้ก็ต้องทำไว้ก่อน เพราะปัญหาอุปสรรคมีไว้ให้สู้ ไม่ได้มีไว้ให้ถอย และหลายครั้งที่วิกฤตมักนำมาซึ่งโอกาสดีๆ อยู่เสมอ ขอเพียงไม่กลัวที่จะลงมือทำ ดูอย่างร้านอาหารตามสั่งในซอยเล็กๆ ร้านนี้ที่มีเพียงห้องแถวเดียว แต่ใครเลยจะรู้ว่าวันหนึ่งสามารถผลิตข้าวกล่องส่งออกไปยังที่ต่างๆ ได้มากถึง 300 กล่อง ไม่นับรวมออร์เดอร์หน้าร้านอีกวันละร้อยกว่าจาน เป็นเพราะการปรับกลยุทธ์ พลิกวิธีคิด เปลี่ยนตัวเองจากร้านในซอยเล็กๆ มาสู่โลกออนไลน์ ด้วยแอปพลิเคชันดิลิเวอรี
 



 
  • เพราะวิกฤต จึงเจอโอกาส
               
     แหลม เสกสรร ใสสม เจ้าของร้าน “อิ่มจัง” ร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ ซอยจุฬาลงกรณ์ 50 ได้เล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนตัวเองและหันมาให้บริการผ่านดิลิเวอรีเพิ่มเติมขึ้นมาว่า ตนเองนั้นเริ่มเปิดร้านขายอาหารตามสั่งเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ร้านยอดขายก็สามารถพยุงตัวมาได้เรื่อยๆ แม้ไม่หวือหวา หรือต้องเจอกับวิกฤตหลายครั้งบ้าง แต่ในปีที่ผ่านมานี้ค่อนข้างได้รับผลกระทบที่ชัดเจน เขาพยายามคิดหาวิธีอยู่หลายทาง กระทั่งมาเจอกับแอปพลิเคชันดิลิเวอรี จึงสนใจติดต่อเข้าไป จากนั้นยอดขายก็กระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนร้านเล็กๆ ของเขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นบนโลกออนไลน์
               

     “เราเปิดร้านอยู่ตรงนี้มาเกือบ 8 ปีแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ นักศึกษาและพนักงานบริษัทในละแวกใกล้เคียงจุฬาฯ ช่วงแรกมีร้านเราเปิดเป็นร้านตามสั่งอยู่ร้านเดียว แต่หลังๆ มาด้วยเศรษฐกิจไม่ดี หลายร้านที่ขายอย่างอื่น เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ เขาก็หันมาขายอาหารตามสั่งเสริมขึ้นมา เพราะขายอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ พอขายได้น้อยลง ค่าเช่าที่ก็แพงหลายหมื่นบาทต่อเดือน ช่วงนั้นค่อนข้างลำบากมาก ก็พยายามหาวิธีกันอยู่หลายทาง จนมาเจอกับแอปฯ ดิลิเวอรีเจ้าหนึ่ง เขามานำเสนอ เราเห็นว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ก็เลยลองสมัครดู
               

     “ช่วงแรกก็ยังเพิ่มขึ้นไม่เท่าไหร่ แต่จากนั้นไม่นานก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ยอดขายผ่านแอปฯ อยู่ที่ประมาณ 300 กล่องต่อวัน แซงหน้าร้านไปแล้วที่ขายได้วันละร้อยกว่าจาน ยิ่งช่วงไหนที่จัดโปรโมชั่นกับทางแอปฯ ยิ่งเพิ่มเป็น 400-500 กล่องต่อวัน”




 
  • เสิร์ฟเร็วทันใจ เคล็ดลับออร์เดอร์พุ่ง
               
     โดยการเตรียมตัวเปลี่ยนจากหน้าร้านมาสู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกับร้านค้าเล็กๆ ต้องเป็นกังวล ในข้อนี้เสกสรรเล่าว่าด้วยความที่เขาเองก่อนมาเปิดร้านของตัวเอง เคยมีประสบการณ์ทำงานกับร้านอาหารใหญ่ๆ มาก่อน จึงได้จดจำระบบและวิธีการทำงานมาใช้ตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อต้องเพิ่มในส่วนของดิลิเวอรีเข้ามา เขาจึงพอมองภาพออกว่าต้องเตรียมตัวและรับมืออย่างไรบ้าง
               

     “ตอนที่ตัดสินใจทำดิลิเวอรี ไม่ได้คิดอะไรมากเลย คิดอย่างเดียวว่าทำยังไงก็ได้ขอให้ขายได้ ร้านอยู่ได้ และอาจจะด้วยความโชคดีที่เราเองเคยทำเป็นกุ๊ก เป็นผู้ช่วยอยู่ในครัวร้านอาหารใหญ่ๆ มาก่อน ซึ่งเขาจะมีระบบบริหารจัดการที่ดี พอต้องเพิ่มในส่วนของดิลิเวอรีจึงทำให้เราพอมองภาพออก โดยสิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นมามีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.กำลังคน 2.อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เช่น ตู้แช่เย็น เตาแก๊ส อย่างปกติตอนทำแค่หน้าร้านเราจะใช้ 2 เตา พอเป็นดิลิเวอรีก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 4 เตา เพื่อให้ทัน ส่วนเรื่องวัตถุดิบเราจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ กะดูจากยอดขายในแต่ละวัน ซึ่งเราจะพยายามเตรียมมาให้พอดี และขายให้หมดทุกวัน เพื่อให้ลูกค้าได้กินวัตถุดิบที่ดี สดใหม่ จะทำได้ ก็คือ เราต้องรู้จักลูกค้าของตัวเอง รู้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของเราชอบกินอะไร ถ้าเป็นนักศึกษาชอบกินอะไรมากกว่า พนักงานบริษัทชอบกินอันไหนมากกว่า”
               




     โดยเสกสรรเล่าให้ฟังว่าหัวใจสำคัญของการขายในช่องทางดิลิเวอรีให้ประสบความสำเร็จ คือ ต้องทำให้ทันกับความต้องการของลูกค้า โดยร้านอิ่มจังจะเปิดให้บริการตั้งแต่ 11.00 – 22.00 น. ช่วงเวลาขายดี คือ เที่ยงถึงบ่ายโมง และตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป จนถึงร้านปิด
               

     “การทำดิลิเวอรีให้ได้ยอดออร์เดอร์เยอะๆ คือ เราต้องเร่งให้ทันกับลูกค้า ยกตัวอย่างช่วงเที่ยงที่ทุกคนมีเวลาแค่ 1 ชั่วโมงเหมือนกัน เราก็ต้องรีบทำให้ทันตามที่เขาต้องการ โดยถ้าเป็นออร์เดอร์มาจากออนไลน์ ส่วนใหญ่จะเป็นออร์เดอร์ซ้ำๆ และจะสั่งมาล่วงหน้า เราก็สามารถเตรียมวัตถุดิบไว้ก่อนได้ พอมาก็เสร็จพอดี อย่างพนักงานที่ร้านก็จะเป็นญาติๆ กัน ทำให้ทำงานรู้ใจกัน ที่สำคัญต้องเป็นคนเก่ง เป็นงาน ถึงจะวางไว้ว่าใครมีหน้าที่หลักทำอะไร แต่ถ้าถึงเวลาฉุกเฉินต้องสามารถทำแทนกันได้ ทั้งเมนูต้ม เมนูผัด ส่วนทอดเราจะแยกเป็นอีกเตาไปเลย เพราะใช้เวลากว่า”
 



 
  • อิ่ม อร่อย ราคายุติธรรม กลเม็ดเด็ดมัดใจลูกค้า
               
     ทุกวันนี้นอกจากช่องทางดิลิเวอรีที่เข้ามาช่วยเติมเต็มธุรกิจให้อยู่รอดแล้ว หัวใจสำคัญอีกอย่างที่เสกสรรใช้ในการทำร้านอาหารของเขาให้ประสบความสำเร็จมัดใจลูกค้าให้กลายมาเป็นลูกค้าประจำได้ ก็คือ
               

     “สิ่งที่ทำให้ลูกค้าติดใจในร้านเรา ถึงเรียบจบออกไปแล้ว หรือไม่ได้ทำงานอยู่ที่นี่ก็ยังมาสั่ง คือ เพราะ 1.ให้เยอะ 2.ราคาถูก กินแล้วอิ่ม นี่คือ หัวใจสำคัญของร้านเราเลย อร่อยและสะอาดค่อยตามมา เราคิดเสมอว่าถ้ามาร้านเราลูกค้าต้องกินได้ทุกระดับกินได้ทุกคน ราคาที่ตั้งไว้ คือ 40 – 55 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของเรา คือ นักศึกษา พนักงานบริษัท เราต้องคิดว่าทำยังไงถึงจะให้เขามากินเราทั้ง 3 มื้อได้ ถ้าแพงเกินไป เขาก็คงมากินเราบ่อยๆ ไม่ได้ และอีกอย่างที่ลูกค้าชอบพูดถึงร้านเราเยอะๆ ก็คือ ให้เยอะ กินแล้วอิ่ม นี่คือ ที่มาของชื่อร้านว่า “อิ่มจัง” เพราะเราคำนึงถึงลูกค้าด้วย”
               




     สุดท้ายเสกสรรยังได้ฝากคำแนะสำหรับผู้ประกอบการว่า หากคิดจะทำก็ให้เริ่มเลย ใครๆ ก็สามารถทำได้ไม่ว่าร้านใหญ่หรือเล็ก เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่จำเป็นต้องมาซื้อหน้าร้านเหมือนแต่ก่อน และยังช่วยเพิ่มช่องทางการขาย โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากด้วย
               

     “เดี๋ยวนี้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปเยอะมาก จริงๆ ลูกค้าที่สั่งผ่านแอปฯ บางส่วนก็เป็นลูกค้าประจำที่มากินหน้าร้านของเรานี่แหละ แต่พอเขารู้ว่าเรามีส่งดิลิเวอรีด้วย บางทีขี้เกียจเดินทางมา อย่างนักศึกษาอยู่ในหอ หรือพนักงานออฟฟิศ เขาก็สั่งผ่านแอปฯ ให้ไปส่ง เพราะราคาไม่ได้ต่างกันมาก ยิ่งมีจัดโปรโมชันที่คุ้มกว่า เขาก็สั่งผ่านแอปฯ ดีกว่า และอย่างข้อดีอีกข้อของการทำส่งดิลิเวอรี คือ นอกจากช่วยให้เราประหยัดต้นทุน ไม่ต้องสร้างหน้าร้านขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องเสียเค่าเช่าในยุคที่เศรษฐกิจแย่แบบนี้ ยังช่วยขยายฐานลูกค้าให้เราได้ไกลขึ้นด้วย แต่ก่อนลูกค้าของเราก็มีเฉพาะในละแวกนี้ แต่พอมีบริการส่งดิลิเวอรี ทำให้กระจายฐานลูกค้าได้ไกลมากขึ้น เหมือนบางคนเรียนจบแล้ว หรือไม่ได้ทำงานอยู่แถวนี้แล้ว ถ้าเขาอยากกิน นึกถึงรสชาติของเรา ก็สามารถสั่งได้เลย”
 
               



     และนี่คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่แม้จะเป็นร้านเล็กๆ ตั้งอยู่ในซอย แต่ก็สามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสขึ้นมาได้ ขอเพียงไม่หยุดที่จะลงมือทำและกล้าที่จะทดลองช่องทางใหม่ๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เขาทำได้ คุณก็ทำได้!
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ