แสงชัย ธีรกุลวาณิช เงินหลักหมื่นสู่ธุรกิจหลายร้อยล้านด้วยการขาย “ความจริงใจ” และ “แตกต่าง”

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
  • “ไร้ท์ โซลูชั่น” คือธุรกิจที่เกิดจาการรวมตัวของพี่น้องและญาติสนิท 4 คน ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม โดยใช้เงินเริ่มต้นแค่หลักหมื่นบาท ผ่านมาสิบปีธุรกิจเติบโตเป็นกิจการหลายร้อยล้าน และหวังก้าวไกลสู่การเป็นบริษัทระดับโลกในอนาคต
 
  • สิ่งที่พวกเขาขาย ไม่ใช่ตัวสินค้าหรือบริการ แต่กำลังขายในสิ่งที่เรียกว่า “ความจริงใจ” และ “ความแตกต่าง” สองสิ่งนี้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้อย่างไร ไปติดตามกัน!



     เมื่อกว่าสิบปีก่อน กลุ่มพี่น้องและญาติสนิท 4 คน ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด ขึ้น โดยใช้เงินเริ่มต้นแค่หลักหมื่นบาท
               

     วันนี้ธุรกิจเล็กๆ เติบโตเป็นกิจการหลายร้อยล้าน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และหวังก้าวไกลสู่การเป็นบริษัทระดับโลกในอนาคต
               

     พวกเขาทำได้อย่างไร? ไปหาคำตอบกัน
               




     “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด เขารวมตัวกับกลุ่มพี่น้องทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายสารกรองน้ำให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม  โดยมุ่งไปที่ ถ่านกัมมันต์ หรือ Activated Carbon ที่ผลิตจากกะลามะพร้าวเพราะขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพดีและเป็นที่นิยม
                 

     แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่รายแรกที่เข้ามาในธุรกิจนี้ แต่จะทำอย่างไรที่จะทำตลาดได้และฉีกตัวเองออกจากผู้เล่นเก่าในสนาม คำตอบที่เด็กสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอย่างพวกเขาคิดได้ในตอนนั้นก็คือ “ต้องแตกต่าง”





     คนอื่นขายสินค้า พวกเขามีสินค้า แต่ขายการเป็น “ที่ปรึกษา” คนอื่นมีสินค้าและพัฒนาตัวสินค้าให้ดีขึ้น แต่พวกเขาต่อยอดไป “รับออกแบบระบบ” เพื่อให้ใช้สินค้านั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยต่อยอดมาทำบริการออกแบบระบบบำบัดน้ำและอากาศให้โรงงานต่างๆ แก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรม เพราะเชื่อว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อการทำธุรกิจ


     คนอื่นให้ความสำคัญกับกำไร แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับ “ความจริงใจ” ฉะนั้นหลายครั้งสิ่งที่ช่วยเหลือลูกค้าอาจไม่ส่งผลต่อธุรกิจ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำ หรืออาจทำให้ต้องส่งต่อลูกค้าไปให้กับคนอื่น แต่ถ้าได้ช่วยด้วยความจริงใจ พวกเขาก็เลือกที่จะทำ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น





     ทำธุรกิจทุกคนก็มุ่งกับการขาย แต่สไตล์ของ ไร้ท์ โซลูชั่น คือ “การขายแบบไม่ขาย” แต่ใช้ความเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาที่ดีที่สุดมัดใจลูกค้า


     คนอื่นทำธุรกิจด้วยฝีมือ แต่พวกเขาทำธุรกิจ “ด้วยหัวใจ” โดยเลือกที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา อยากได้ลูกค้าหรือคู่ค้าแบบไหนก็ปฏิบัติตัวแบบนั้น เพื่อดึงดูดคนที่ใช่ให้เข้าหา


     คนอื่นการปิดการขายคือที่สุด แต่พวกเขา “การรักษาลูกค้า” ให้อยู่กับบริษัทตลอดไปหรือนานที่สุด เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเกินกว่าอะไรทั้งนั้น


     คนอื่นมองคู่แข่งเป็นศัตรู แต่พวกเขา “คู่แข่งคือเพื่อนร่วมธุรกิจ” ที่คอยกระตุ้นให้เราตื่นตัวและอยากพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่เสมอ


     คนอื่นสร้างธุรกิจ แต่พวกเขาเลือก “สร้างโนว์ฮาว” แม้แต่ในเรื่องของการบริการ เพื่อให้ใช้คนน้อยลง มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น


     ค่าแรงเพิ่ม คนอื่นพยายามลดคนเพื่อลดต้นทุน แต่พวกเขาเลือกใช้เทคโนโลยีมาช่วยงานคน ให้คนทำงานน้อยลง เพื่อมีเวลาไปฝึกทักษะด้านอื่นให้เก่งขึ้น พวกเขาไม่ได้สร้างองค์กรธุรกิจ แต่กำลังสร้าง “องค์กรแห่งการเรียนรู้”


     พนักงานที่อื่นต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่พนักงานที่นี่ทุกคนทำงานด้วยกัน เล่นเพลงคีย์เดียวกัน ขณะที่แต่ละคนถูกฝึกให้มีทักษะที่หลากหลาย  ไม่ต้องเชี่ยวชาญแค่ด้านใดด้านหนึ่ง




     คนอื่นซื้อนวัตกรรมเข้ามาใช้ แต่ที่นี่พวกเขาให้พนักงานได้มาคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง มีการประกวดแข่งขัน มอบรางวัล ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนต่างแผนกอยู่เสมอ


     คนอื่นเลือกทำสิ่งที่แตกต่าง แต่พวกเขาพยายามที่จะสร้างความแตกต่างมากขึ้นไปอีก โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มี ไปเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ภายนอก ร่วมมือกับนักวิชาการ นำงานวิจัยบนหิ้งมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์


     คนอื่นทำโรงงาน แต่สิ่งที่พวกเขากำลังทำคือ โรงงานดิจิทัล (Digital Factory) นำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้บูรณาการในโรงงาน ใช้คนน้อยลง แล้วเอาคนไปอัพสกิลให้เก่งขึ้น เพื่อไปทำเรื่องที่อื่นๆ


      คนอื่นสร้างพนักงาน แต่พวกเขาเลือกสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้กับพนักงาน ให้ทำงานด้วยหัวใจของเจ้าของ


     คนอื่นเน้นยอดขายที่โตขึ้น แต่สำหรับพวกเขา ยอดขายจะลดลงบ้างก็ได้ ถ้ายังมี “กำไร” อยู่  


      คนอื่นอาจมองแค่ตลาดในประเทศ แต่พวกเขาฝันที่จะเป็นบริษัทระดับโลก อยากผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีของคนไทย ไปขายต่างชาติดูบ้าง ซึ่งพวกเขาไม่ใช่แค่ฝัน แต่ทุกอย่างที่ทำอยู่ในวันนี้กำลังปูทางไปสู่จุดนั้น


     แล้วทำแบบนี้จะได้อะไร?


     ทำให้กิจการเล็กๆ ที่เริ่มจากคน 4 คน และเงินหลักหมื่นบาท เติบโตมามียอดขายในระดับหลายร้อยล้านบาท มีพนักงานในกลุ่มร้อยราย ที่สำคัญลูกค้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นลูกค้าเก่าที่อยู่กับพวกเขามากว่าสิบปีแล้ว


     ทุกการกระทำมีความหมายเสมอ และนี่ก็คือผลลัพธ์จากการขาย “ความจริงใจ” และ “ความแตกต่าง” ของพวกเขาที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน